บทที่ 1 การปฏิเสธและ การบิดเบือนโฮโลคอสต์ คืออะไร ตัวอย่างจากยุโรปตะวันออก

นิทรรศการ Identifying and Countering Holocaust Distortion: Lessons for and from Southeast Asia (การระบุและการต่อต้านการบิดเบือนโฮโลคอสต์: บทเรียนสำหรับเอเชียอาคเนย์และบทเรียนจากเอเขียอาคเนย์) จะนำเสนอประสบการณ์
โฮโลคอสต์ (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หรือ Holocaust) ของประเทศโปแลนด์และประเทศยุโรปตะวันออกเป็นสิ่งแรก และจากนั้นจะนำเสนอประวัติศาสตร์และสิ่งที่สืบทอดมาในประเทศและในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นิทรรศการนี้จะมุ่งเน้นไปที่ประเทศกัมพูชา พม่า และไทย

ถึงแม้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีประสบการณ์โดยรวมเรื่องสงครามโลกครั้งที่สองร่วมกันกับยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก แต่แต่ละภูมิภาคก็มีประสบการณ์ของตนเองที่ต่างกันออกไป  โฮโลคอสต์เริ่มต้นในประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกโดยนาซีเยอรมนีและผู้สมรู้ร่วมคิดได้สังหารชาวยิวหกล้านคน (และเหยื่อจากกลุ่มอื่นๆ) ในค่ายมรณะหรือโดยการประหารชีวิต ณ จุดที่พบในระหว่างปี ค.ศ. 1933 1945  ประเทศยุโรปตะวันออกซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์และระบอบเผด็จการก็มีอดีตที่โหดร้ายเช่นกัน เรื่องนี้จึงเป็นหัวข้อถกเถียงที่ยากลำบากและยังเกี่ยวข้องกับบทบาทของประเทศที่ถูกยึดครองในภูมิภาคนี้ในระหว่างที่เกิดโฮโลคอสต์ โดยบางส่วนเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ผู้เพิกเฉยต่อเหตุการณ์นี้ ในขณะที่อีกส่วนเป็นผู้ช่วยเหลือและผู้ไม่ยอมเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

แม้ว่าเอเชียอาคเนย์จะประสบกับการเข้ายึดครองของประเทศญี่ปุ่นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง และยังมีความขัดแย้งอื่นๆ และมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นอีกด้วย แต่การตระหนักรู้เรื่องโฮโลคอสต์นั้นยังมีน้อย จึงมีโอกาสเกิดการบิดเบือนและการลดความสำคัญจนเหมือนว่าเรื่องนี้ไม่มีความสำคัญ (trivialisation) อยู่มาก  นอกจากความไม่สนใจด้านประวัติศาสตร์ การไม่มีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์โฮโลคอสต์ และความไม่สามารถประยุกต์ใช้บทเรียนจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบริบทที่ไม่เกี่ยวข้องกับยุโรปแล้ว ก็ยังมีตัวอย่างการบิดเบือนเรื่องโฮโลคอสต์ในที่สาธารณะและในวาทกรรมตามสื่อต่างๆ จำนวนมากอีกด้วย  นิทรรศการนี้มุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเพื่อให้เกิดวาทกรรมเชิงวิพากษ์เรื่องการจัดการสิ่งที่ตกทอดมาจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยใช้วิธีแลกเปลี่ยนประสบการณ์และจัดหาเครื่องมือและการโต้แย้งเพื่อพูดถึงการบิดเบือนโฮโลคอสต์โดยใช้การอภิปรายจากประเทศยุโรปตะวันออก 

วัตถุประสงค์ของเราคือเพื่อขจัดการบิดเบือน การทำให้เรื่องรุนแรงกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ (banalization) และการปฏิเสธว่าไม่มีโฮโลคอสต์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นๆ เกิดขึ้น เพื่อเน้นย้ำความสำคัญของโฮโลคอสต์ว่าเป็นสิ่งที่สืบทอดร่วมกันและเป็นจุดอ้างอิงในการอภิปรายร่วมสมัยในเรื่องสิทธิมนุษยชน  เราเห็นว่าการปฏิเสธและการบิดเบือนโฮโลคอสต์นั้นเป็นความเกลียดชังรูปแบบหนึ่งที่มาพร้อมกับการด้อยค่าของเหยื่อ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ใช้เพื่อสนับสนุนว่าการแบ่งแยกและการกระทำรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ต่อชนกลุ่มต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง  

นิทรรศการรูปแบบดิจิทัลนี้จะมีข้อมูลจากองค์กร NEVER AGAIN Association และข้อมูลที่เพื่อนร่วมงานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของเราเก็บสะสมไว้และแบ่งปัน

ผู้เขียนบทความสำหรับงานนิทรรศการ: ท่านลาบลู บารัว (วัดพรหมรังษี, ไทย), Ronan Lee (Loughborough University, สหราชอาณาจักร), เทอร์รี แมนท์ตัน (พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย – พม่า, ไทย), Rafal Pankowski (องค์กร NEVER AGAIN Association, โปแลนด์),  ภัทรภร ภู่ทอง (โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา, ไทย), Sammy Samuels (ชุมชนชาวยิวแห่งพม่า), Sayana Ser (สถาบัน Peace Institute, กัมพูชา), Natalia Sineaeva (องค์กร NEVER AGAIN Association, โปแลนด์), วริตตา ศรีรัตนา (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ไทย), Thet Swe Win (Synergy, เมียนมา)

ผู้แปล: วิรกานต์ ซัลมองด์ (ภาษาไทย), Hay Mann Zu Zue, Khaing Khaing, และ Yaya (David) Aye Myat (ภาษาพม่า), Sayana Ser (ภาษาเขมร)

บรรณาธิการภาษาอังกฤษ: Kevin McRobb (สหราชอาณาจักร/โปแลนด์)

ออกแบบ (PDF): Andrey Sergunkin (Memorial, รัสเซีย/โปแลนด์)

ออกแบบ: Dmitrii Arikov (Eco-Tiras, มอลโดวา), Vitalii Boico (Eco-Tiras, มอลโดวา)                                      

อะไรคือการปฏิเสธและการบิดเบือนโฮโลคอสต์

เกี่ยวกับคำนิยามเชิงปฏิบัติการของคำว่า การปฏิเสธและ
การบิดเบือนโฮโลคอสต์ ของ IHRA

ประเทศสมาชิก 31 ประเทศของ International Holocaust Remembrance Alliance (IHRA) ใช้คำนิยามเชิงปฏิบัติการของคำว่าการปฏิเสธและการบิดเบือนโฮโลคอสต์ (Holocaust denial and distortion) ในการประชุมใหญ่ของ IHRA ณ เมืองโตรอนโต เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 2013

คำนิยามเชิงปฏิบัติการนี้พัฒนาขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญของ IHRA ในคณะกรรมการด้านการต่อต้านชาวยิวและการปฏิเสธโฮโลคอสต์ (Committee on Antisemitism and Holocaust Denial) ที่ทำงานร่วมกับตัวแทนรัฐบาลของ IHRA เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการทำงาน 

คำนิยามเชิงปฏิบัติการของคำว่า การปฏิเสธและการบิดเบือนโฮโลคอสต์

คำนิยามในปัจจุบันเป็นการแสดงถึงการรับรู้ว่าจำเป็นต้องมีการท้าท้ายและประนามการปฏิเสธและการบิดเบือนโฮโลคอสต์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และยังต้องมีการตรวจสอบในระดับโลกอีกด้วย  ด้วยเหตุนี้  IHRA จึงใช้คำนิยามเชิงปฏิบัติการที่ไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายต่อไปนี้เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับการทำงาน  

การปฏิเสธโฮโลคอสต์คือวาทกรรมและการโฆษณาชวนเชื่อที่ปฏิเสธสิ่งที่เกิดจริงด้านประวัติศาสตร์และขอบเขตของการกำจัดชาวยิวให้สิ้นซากของนาซีและเหล่าผู้สมรู้ร่วมคิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่รู้จักในนามว่า โฮโลคอสต์ (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว หรือ Holocaust) หรือ โชอาห์ (Shoah)  ส่วนการการปฏิเสธ
โฮโลคอสต์นั้นหมายถึงความพยายามใดๆ ก็ตามที่อ้างว่าโฮโลคอสต์/โชอาห์นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงโดยเฉพาะ

การปฏิเสธโฮโลคอสต์อาจรวมไปถึงการปฏิเสธหรือตั้งข้อสงสัยในที่สาธารณะเกี่ยวกับการใช้กลไกการทำลายหลักฐาน (เช่นห้องรมแก๊ส การยิงคนจำนวนมาก การอดอาหารและการทรมาน) หรือเกี่ยวกับเจตนาของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว 

การปฏิเสธโฮโลคอสต์ที่มีหลายรูปแบบนับเป็นการแสดงออกถึงลัทธิการต่อต้านชาวยิว (antisemitism)  ความพยายามที่จะปฏิเสธว่าไม่มีโฮโลคอสต์นั้นเป็นความพยายามที่จะให้ลัทธิสังคมนิยมแห่งชาติ (National Socialism) และลัทธิต่อต้านชาวยิวพ้นจากความผิดหรือความรับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว  รูปแบบการ
ปฏิเสธโฮโลคอสต์ต่างๆ ยังรวมไปถึงการโทษชาวยิวว่าพูดเรื่องโชอาห์เกินจริง หรือสร้างโชอาห์ขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือทางการเงินราวกับว่าโชอาห์นั้นเป็นผลมาจากการสมรู้ร่วมคิดที่ชาวยิวเป็นผู้วางแผน ซึ่งวัตถุประสงค์ของการกระทำเช่นนี้คือเพื่อโยนความผิดให้ให้ชาวยิวและเพื่อให้ลัทธิการต่อต้านชาวยิวกลับมามีความชอบธรรมอีกครั้ง 

วัตถุประสงค์ของการปฏิเสธโฮโลคอสต์มักจะเป็นไปเพื่อให้ลัทธิต่อต้านชาวยิวกลับมาชัดเจนและเพื่อเป็นการส่งเสริมแนวคิดทางการเมืองและเงื่อนไขที่
เหมาะสมเพื่อให้ประเภทของเหตุการณ์ที่ปฏิเสธนั้นเกิดขึ้นอีกครั้ง

การบิดเบือนโฮโลคอสต์หมายถึง (นอกเหนือจากความหมายอื่นๆ): 

  1. ความพยายามตั้งใจที่จะหาข้ออ้างให้กับหรือทำให้ผลกระทบของ
    โฮโลคอสต์หรือองค์ประกอบหลัก ซึ่งรวมไปถึงผู้สมรู้ร่วมคิดและพันธมิตรของนาซีเยอรมนีนั้นน้อยลง
  2. การลดจำนวนเหยื่อทั้งหมดของโฮโลคอสต์ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้
  3. ความพยายามที่จะโทษว่าชาวยิวเป็นผู้ที่ทำให้เกิดโฮโลคอสต์เอง
  4. ถ้อยแถลงที่ทำให้โฮโลคอสต์เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เป็นด้านบวก  ถ้อยแถลงเหล่านี้ไม่ใช่การปฏิเสธโฮโลคอสต์แต่เป็นการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับรูปแบบพื้นฐานของการต่อต้านชาวยิว  ถ้อยแถลงเหล่านี้อาจชี้แนะว่าโฮโลคอสต์ไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ “การกำจัดชาวยิวให้สิ้นซาก” ตามที่ตั้งไว้ 
  5. ความพยายามที่จะให้ความรับผิดชอบเรื่องการสร้างค่ายกักกันและค่ายมรณะที่นาซีเยอรมนีเป็นผู้คิดค้นและปฏิบัติการนั้นไม่ชัดเจน โดยกล่าวโทษประเทศอื่นหรือกลุ่มชนชาติอื่น

อะไรคือการปฏิเสธโฮโลคอสต์ (Holocaust denial)

การปฏิเสธเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นเมื่อมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้กระทำความผิดมักเป็นบุคคลแรกที่ปฏิเสธโดยพยายามปกปิดความผิดของตนเอง

เกรเกรี เอช. สแตนตัน (Gregory H. Stanton) ผู้ก่อตั้ง Genocide Watch ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรกว่า 75 แห่งทั่วโลก ได้รวม ‘การปฏิเสธ’ ไว้ใน 10 ขั้นตอนของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยเขียนไว้ว่า:

‘การปฏิเสธเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นไปตลอดและจะเกิดขึ้นหลังจากมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เสมอ มันเป็นตัวชี้วัดที่เชื่อถือได้ว่าจะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นในอนาคต ผู้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้ขุดหลุมฝังขนาดใหญ่ เผาศพ พยายามปกปิดหลักฐานและข่มขู่พยาน พวกเขาปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดใดๆ และมักจะโทษว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดของเหยื่อ พวกเขาจะปิดกั้นการสอบสวนความผิดที่เกิดขึ้นและปกครองประเทศต่อไปจนกว่าจะถูกขับไล่ลงจากอำนาจโดยการใช้กำลัง ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องหลบหนีไปนอกประเทศและยังสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้โดยไม่ต้องรับโทษ เช่นเดียวกับพอล พต หรือ อิดี้ อามิน เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาเกิดถูกจับกุมและมีการตั้งศาลเพื่อพิจารณาคดีพวกเขา’[1]

ด้วยวิธีเดียวกันนี้ เราจึงพบที่มาของการปฏิเสธโฮโลคอสต์ในหมู่ผู้กระทำความผิด นั่นคือ เหล่านาซี โดยคนเหล่านี้ได้พยายามลบล้างหลักฐานการกระทำผิดของตนในช่วงที่เกิดโฮโลคอสต์ แม้ว่าฮิตเลอร์ไม่ได้ออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้สังหารชาวยิว แต่ในทางกลับกัน เหล่าผู้กระทำความผิดจะใช้รหัสคำและภาษาที่ลดความรุนแรง (euphemism) เพื่อปกปิดการสังหารเหล่านี้ ตัวอย่าง เช่น การใช้คำว่า ‘Aussiedlung’ (‘การอพยพ’) ‘Abschiebung’ (‘การเนรเทศ’) และ ‘Endloesung’ (‘มาตรการสุดท้าย’ หรือ ‘the Final Solution’) เหล่านาซีได้จัดตั้งการรณรงค์ลับที่มีชื่อว่า Unit Action 1005 ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1942 จนถึงช่วงปลายปีค.ศ. 1944 เพื่อทำลายหลักฐานการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นภายใต้ ‘Operation Reinhard’ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดชาวยิวทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในยุโรปตะวันออกที่ถูกนาซีเยอรมนียึดครอง พวกเขาขุดหลุมฝังศพขนาดใหญ่เพื่อนำศพออกมาเผาและยังทำลายค่ายมรณะต่างๆ โดยค่ายเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้สามารถทำการรื้อถอนได้โดยง่าย

ไม่นานหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง การปฏิเสธโฮโลคอสต์ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เคยให้การสนับสนุนและผู้มีส่วนร่วมในการปกครองระบอบนาซีและในกลุ่มการเคลื่อนไหวของผู้ที่ให้ความร่วมมือในยุโรปที่ไม่ยอมรับผิดชอบการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การปฏิเสธโฮโลคอสต์นั้นเป็นชุดการเรียกร้องทางประวัติศาสตร์ที่นำเสนอว่าการปกครองระบอบนาซีเป็นสิ่งที่เหมาะสมและเป็นผลมาจากความต้องการทางการเมืองของกลุ่มการเคลื่อนไหวของกลุ่มนีโอนาซี (นาซีใหม่)

ผู้ปฏิเสธโฮโลคอสต์อ้างว่าอะไร

การปฏิเสธ (หรือการคัดค้าน) โฮโลคอสต์นั้นถือว่าเป็นรูปแบบของการแก้ไขทางประวัติศาสตร์ (historical revisionism) ที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่สองที่รุนแรงที่สุด แม้จะมีการยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าคำว่า การปฏิเสธโฮโลคอสต์ และ การแก้ไข นั้นเป็นการกระทำที่ต่างกัน แต่ก็มักมีการใช้คำว่า [2]
‘การแก้ไขโฮโลคอสต์’ (‘Holocaust revisionism’) ในการบรรยายเชิงวิชาการหรือ
ในที่สาธารณะ ผู้ที่ปฏิเสธมักจะเรียกตนเองว่า ‘นักแก้ไข’ (‘revisionists’) การใช้คำเหล่านี้เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพยายามของคนเหล่านื้ที่ต้องการแสดงว่าตนเป็นนักวิชาการและนักค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ที่แท้จริง

เหล่าผู้ปฏิเสธเชื่อว่าโฮโลคอสต์ไม่เคยเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่สร้างขึ้นทั้งหมดโดยถูกแต่งขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของการสมคบคิดที่เกี่ยวข้องกับชาวยิวในระดับนานาชาติและ/หรือประเทศอิสราเอล เหล่าผู้ปฏิเสธจะไม่ยอมรับว่านาซีตั้งใจกำจัดชาวยิว นอกจากจะปฏิเสธว่าไม่มีแผนการกำจัดชาวยิวและการใช้ห้องแก๊สที่ค่ายเอาชวิตซ์-เบียร์เคเนาเพื่อสังหารชาวยิวจำนวนมากแล้ว ผู้ปฏิเสธจะลดจำนวนของเหยื่อลงด้วย นอกจากนี้ พวกเขายังลดความทุกข์ทรมานและการทำลายล้างในยุโรปที่มีผลมาจากนโยบายของนาซีให้น้อยลง โดยอ้างว่าเป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธและโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น พวกเขาปฏิเสธด้วยว่าวัตถุประสงค์ของนาซีที่จะสังหารชาวยิวให้หมดไปนั้นไม่มีอยู่จริง และยืนยันว่าชาวยิวส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตให้อพยพไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและคำให้การของผู้รอดชีวิตนั้นเป็นเรื่องที่เกินจริง พวกเขาอ้างว่าบันทึกของแอนน์ แฟรงค์นั้นไม่ใช่เรื่องจริง

หลักฐานต่างๆ เหล่านี้สามารถใช้หักล้างคำโต้แย้งของผู้ปฏิเสธได้โดยง่าย:   

  • โฮโลคอสต์เป็นเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกไว้เป็นอย่างดีและกองทัพของฝ่ายพันธมิตรได้ยึดเอกสารเหล่านี้จำนวนมากก่อนที่นาซีจะสามารถทำลายเอกสารเหล่านี้ ซึ่งเอกสารที่ยึดได้นั้นรวมไปถึงรายงานการสังหารหมู่และการรมแก๊สพร้อมรายละเอียด และฝ่ายอัยการได้นำเสนอเอกสารเหล่านี้บางส่วนระหว่างการพิจารณาคดีของผู้นำนาซีที่เมือง
    นูเรมเบิร์ก 
  • คำให้การโดยตรงของผู้ที่รอดชีวิตจากโฮโลคอสต์ซึ่งรวมไปถึงภาพยนตร์และภาพถ่ายเมื่อทำการสังหาร โดยบางส่วนนั้นถูกถ่ายเก็บไว้อย่างลับ ๆ และภาพยนตร์และภาพถ่ายที่ผู้ปลดปล่อยค่ายต่าง ๆ เป็นผู้ถ่ายไว้
  • นาซีเยอรมนีและผู้ร่วมมือไม่เพียงแต่สังหารชาวยิวที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีเท่านั้นแต่ยังสังหารชาวยิวทั่วยุโรปอีกด้วย นี่คือที่มาของตัวเลขโดยประมาณของชาวยิวหกล้านคนที่ถูกสังหาร
  • มีการพิสูจน์ว่ามีการสังหารหมู่ชาวยิวโดยการใช้แก๊ส Zyklon B ในค่ายมรณะโดยใช้คำให้การของผู้กระทำความผิด นักโทษ และสมาชิกของ Sonderkommando ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องขังที่ถูกบังคับให้ขนย้ายผู้เสียชีวิตจากห้องรมแก๊สและนำศพเหล่านั้นไปกำจัด และยังมีการค้นพบหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่บริเวณค่ายมรณะและค่ายกักกันของนาซีอีกด้วย
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชและนักโบราณคดียังได้ทำการตรวจสอบบริเวณที่เกิดการสังหารหมู่ชาวยิวในยุโรปตะวันออกและในอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นสถานที่ที่นาซีเยอรมันมักสังหารชาวยิว ณ จุดที่พบ (โดยใช้กระสุน) ซึ่งเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับชาวยิวในขณะที่ถูกส่งตัวไปยังค่ายต่างๆ ในประเทศโปแลนด์ด้วยเช่นกัน

คำถามชวนคิด:

  1. การปฏิเสธโฮโลคอสต์ก่อให้เกิดผลที่ตามมาอะไรได้บ้าง
  2. ผู้ที่ปฏิเสธเหตุการณ์รุนแรงโหดร้าย/การสั่งหารหมู่ในประเทศของคุณใช้การแย้งหรือกลยุทธ์ใดเป็นหลัก (เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชาวโรฮิงญาในพม่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง เหตุการณ์รุนแรงโหดร้ายต่างๆ ในไทย) และส่งผลอะไรต่อสังคมทุกวันนี้
1. http://genocidewatch.net/genocide-2/8-stages-of-genocide, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564.
2. การแก้ไขทางประวัติศาสตร์ หรือ historical revisionism คือการตีความความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจ หลักฐานของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมาใหม่

เกรเกรี เอช. สแตนตัน (Gregory H. Stanton) (เครดิต: Genocide Watch)

อะไรคือการบิดเบือนโฮโลคอสต์และการบิดเบือนต่างจากการปฏิเสธอย่างไร 

การปฏิเสธโฮโลคอสต์คือการปฏิเสธข้อเท็จจริงโดยสมบูรณ์ที่ว่ามีโฮโลคอสต์เกิดขึ้น ในขณะที่การบิดเบือนเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้นและแยกออกมาได้ยากกว่า โดยมันคือปรากฎการณ์การบิดเบือนและจัดการข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เพื่อผลลัพธ์ที่ตนต้องการ  การโต้แย้งหรือกลยุทธ์ของผู้บิดเบือนนั้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยขึ้นอยู่กับพื้นเพทางประวัติศาสตร์ สังคมและการเมืองของประเทศนั้นๆ และโดยเฉพาะประสบการณ์ที่ประเทศนั้นประสบพบเจอในระหว่างและหลังสงครามโลกครั้งที่สอง กล่าวคือ ประเทศนั้นเป็นประเทศที่รุกรานผู้อื่นหรือไม่ ประเทศนั้นถูกนาซีหรือประเทศฝ่ายอักษะยึดครองหรือไม่ เป็นประเทศที่เป็นกลางหรือเป็นประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร 

การปฏิบัติว่าโฮโลคอสต์เป็นเรื่องไม่มีสาระ (Holocaust trivialisation) ถือเป็นการบิดเบือนอีกแบบหนึ่ง การปฏิบัติว่าโฮโลคอสต์เป็นเรื่องไม่มีสาระคือการใช้คำศัพท์และสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับโฮโลคอสต์เพื่อทำให้โฮโลคอสต์เป็นเหตุการณ์ธรรมดาเหตุการณ์หนึ่ง โดย 1. เปรียบเทียบว่าโฮโลคอสต์ที่เกิดจากนาซีเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงน้อยกว่ามากหรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ 2. ลดคุณค่าของผู้ต่อต้านโฮโลคอสต์หรือผู้ที่ช่วยเหลือชาวยิวว่าเป็นความคิดเรื่องการรักชาติแบบเดิมๆ หรือใช้คนเหล่านี้เป็นเครื่องมือสำหรับวัตถุประสงค์ด้านชาตินิยม/อุดมการณ์ต่างๆ 3. อธิบายพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือพฤติกรรมมิชอบว่าเป็นเหมือนลัทธินาซี หรือ 4. ด้อยความสำคัญและด้อยความหมายของโฮโลคอสต์ว่าเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ยิวและประวัติศาสตร์โลก 

การเปรียบเทียบโฮโลคอสต์และความโหดร้ายของนาซีกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการบิดเบือนโฮโลคอสต์ด้วยเช่นกัน เพราะมักถูกกระตุ้นจากลัทธิต่อต้านยิว (antisemitism) ซึ่งคือความเกลียดชังชาวยิวและประเทศอิสราเอลในฐานะที่เป็นรัฐของชาวยิว และอาจเป็นผลมาจากความไม่รู้เกี่ยวกับโฮโลคอสต์และบริบทของโฮโลคอสต์  ในบางกรณี การกระทำเหล่านี้อาจเรียกว่าเป็นการผกผันของโฮโลคอสต์ (Holocaust inversion) โดยชาวยิวถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ ว่าได้ก่ออาชญากรรมที่คล้ายคลึงหรืออาจจะรุนแรงกว่าโฮโลคอสต์

การผลิตและขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโฮโลคอสต์เพื่อกำไรเป็นอีกปรากฏการณ์ที่อันตรายเพราะเป็นการทำเงินจากความทรงจำที่เกี่ยวโฮโลคอสต์และยังทำให้ความทรงจำเหล่านี้ดูเหมือนไม่มีความสำคัญอีกด้วย

คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการบิดเบือนประเภทนี้และประเภทอื่นๆ ได้ที่ งานตีพิมพ์ของ IHRA (ภาษาอังกฤษ) 

ในขณะที่ทางตะวันตกได้มีการพูดคุยเรื่องปัญหาของโฮโลคอสต์มากขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แต่สำหรับในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกนั้น การพูดคุยเรื่องเหล่านี้กลายเป็นความท้าทายบทใหม่หลังจากที่ระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง โดยที่การย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในอดีตยังคงมาคู่กันกับการแข่งขันกว่าใครเป็นเหยื่อที่เลวร้ายกว่ากัน และยังมีการด้อยค่าและการบิดเบือนโฮโลคอสต์อีกหลายประเภทซึ่งถูกนำไปอุดรอยรั่วหลังจากที่ประวัติศาสตร์ชาติที่เคยยิ่งใหญ่ล่มสลายไป

ศาสตราจารย์ไมเคิล ชาเฟียร์ (Michael Shafir) เขียนเกี่ยวกับความแพร่หลายของ การเลือกปฏิเสธ หรือ ‘selective negationism’ ในประเทศที่ให้ความร่วมมือกับเยอรมนีภายใต้การปกครองของฮิตเลอร์ (เช่น โรมาเนีย) หรือประเทศในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่ถูกปกครองโดยนาซีซึ่งเป็นประเทศที่ให้การสนับสนุนว่า “ไม่ปฏิเสธว่ามีโฮโลคอสต์เกิดขึ้นที่อื่น แต่จะกันเรื่องที่คนในชาติให้ความร่วมมือออกไปหรือพูดถึงอย่างน้อยมากที่สุด”  อีกรูปแบบหนึ่งที่ศาสตราจารย์ ชาเฟียร์นิยามไว้ในภูมิภาคนี้คือ การทำให้โฮโลคอสต์นั้น เป็นเรื่องไม่มีสาระเมื่อเทียบกับสิ่งอื่น หรือcomparative trivialisation การกระทำเช่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงว่า “โฮโลคอสต์นั้นเคยเกิดขึ้นมากแล้วในประวัติศาสตร์ หรือไม่ได้เป็นหนึ่งในการกระทำที่ป่าเถื่อนที่ร้ายแรงที่สุดในศตวรรษที่ 21” 

ตัวอย่างหนึ่งของการทำให้โฮโลคอสต์เป็นเรื่องไม่มีสาระที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้คือเหล่าผู้ประท้วงที่ต่อต้านวัคซีนเปรียบเทียบการที่นาซีสังหารชาวยิวกับมาตรการป้องกันโควิด และการนำสัญลักษณ์ที่ใช้ในช่วงที่เกิดโฮโลคอสต์มาใช้ เช่น ตรารูปดาวเดวิดสีเหลืองที่ชาวยิวในยุโรปถูกนาซีบังคับให้ติดตรานี้เพื่อดูหมิ่นชาวยิว โดยผู้ประท้วงเหล่านี้เรียกรูปดาวเดวิดว่าเป็นสัญลักษณ์ของ การลงโทษ ที่คนทั้งโลกใช้กับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

รูป: ศาสตราจารย์ไมเคิล ชาเฟียร์  (เครดิต: Europa Libera)

ตัวอย่างที่ 2 ตุ๊กตา “ยิวละโมบ” ที่มีขายในโปแลนด์เป็นตัวอย่างหนึ่งของการนำการเหมารวมที่แสดงถึงการต่อต้านชาวยิวมาใช้เพื่อหาผลประโยชน์ (เครดิต: NEVER AGAIN Association)

ตัวอย่างที่ 1 ผู้ประท้วงที่ต่อต้านวัคซีนใช้ตรารูปดาวเดวิดสีเหลืองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในช่วงที่เกิดโฮโลคอสต์ที่นาซีบังคับให้ชาวยิวในยุโรปต้องติดตรานี้  

(เครดิต: ADL.org)

งานอ่านที่แนะนำ:

  • บทความของศาสตราจารย์เยฮูดา เบาเออร์ (Prof. Yehuda Bauer) ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการชั้นนำด้านโฮโลคอสต์และเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของ The International Holocaust Remembrance Alliance โดยในบทความนี้ ศาสตราจารย์เบาเออร์ พูดถึงแนวคิดเรื่องการนำเรื่องราวในอดีตมาใช้ (Usable past) และการกระทำเช่นนี้ถูกใช้เพื่อสนับสนุนระเบียบวาระชาตินิยมได้อย่างไร ในบทความที่ชื่อว่า  Creating a “Usable” Past: On Holocaust Denial and Distortion (ภาษาอังกฤษ) ศาสตราจารย์เบาเออร์ได้จำแนกความแตกต่างระหว่างการปฏิเสธและการบิดเบือน ซึ่งเป็นรากฐานทางประวัติศาสตร์ของการปฏิเสธ ศาสตราจารย์เบาเออร์ยังได้กล่าวด้วยว่า ภูมิหลังที่สำคัญของการบิดเบือนโฮโลคอสต์ที่เพิ่มขึ้นคือ “การเพิ่มขึ้นของลัทธิอำนาจนิยม ประชานิยม ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ ลัทธิชาตินิยม และการต่อต้านลิทธิเสรีนิยมในโลกในช่วงประมาณสองทศวรรษที่ผ่านมา”  
  • อ่านตัวอย่างของการบิดเบือนโฮโลคอสต์เพิ่มเติมได้ที่ Understanding Holocaust Distortion – Contexts, Influences and Examples (ภาษาอังกฤษ)

คำถามชวนคิด:

  1. การห้ามพูดถึงหัวข้อบางหัวข้อหรือแง่มุมบางแง่มุมของประวัติศาสตร์ชาติถือว่าเป็นการปฏิเสธโฮโลคอสต์/การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ 
  2. ลักษณะหรือเหตุผลที่ผู้บิดเบือนโฮโลคอสต์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มักใช้คืออะไร 
  3. แนวคิดชาตินิยมมีบทบาทอย่างไรต่อการปฏิเสธและการบิดเบือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

การบิดเบือนโฮโลคอสต์ในยุโรปตะวันออก – เรื่องราวการถกเถียง 

ในขณะที่ทางตะวันตกได้มีการพูดคุยเรื่องปัญหาของโฮโลคอสต์มากขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แต่สำหรับในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกนั้น การพูดคุยเรื่องเหล่านี้กลายเป็นความท้าทายบทใหม่หลังจากที่ระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลายลง โดยที่การย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในอดีตยังคงมาคู่กันกับการแข่งขันกว่าใครเป็นเหยื่อที่เลวร้ายกว่ากัน และยังมีการ
ด้อยค่าและการบิดเบือนโฮโลคอสต์อีกหลายประเภทซึ่งถูกนำไปอุดรอยรั่วหลังจากที่ประวัติศาสตร์ชาติที่เคยยิ่งใหญ่ล่มสลายไป

การถกเถียงเชิงวิพากษ์
เกี่ยวกับหนังสือของยาน ที. โกรสส์ 

ต้นศตวรรษ 2000

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการการรับมืออดีตและการตอบโต้การบิดเบือนโฮโลคอสต์คือยาน ที. โกรสส์ (Jan T. Gross) ซึ่งเป็น

นักประวัติศาสตร์ชาวโปลิช-อเมริกันและศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและหนังสือที่มีอิทธิพลในเรื่องนี้ คือ ‘Neighbors. The Destruction of the Jewish Community in Jedwabne, Poland’ (Princeton, 2001); ‘Fear: Anti-Semitism in Poland after Auschwitz (Random House, 2006), and ‘Golden Harvest: Events at the Periphery of the Holocaust (เขียนร่วมกับอิเรนา กรุดซินสก้า-โกรสส์ (Irena Grudzińska-Gross), Oxford University Press, 2012)

ยาน ที. โกรสส์จะค้นคว้าหัวข้อที่ถูกละเลยก่อนหน้านี้ หนังสือแต่ละเล่มของเขาเป็นการนำเสนอเรื่องการโต้เถียงในแต่ละเรื่อง ในหนังสือเรื่อง ‘Neighbors’ ที่ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาโปลิชในปีค.ศ. 2000 และตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในปีถัดมา โกรสส์ได้เขียนถึงการสังหารหมู่ชาวยิวที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1941 ที่เมืองเยดวับนา (Jedwabne) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ทางตะวันออกของประเทศโปแลนด์ โดยชาวโปลิชที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้และเมืองใกล้เคียงได้ต้อนชาวยิวจากในเมืองไปยังตลาด และทุบตีชาวยิว ทำให้ชาวยิวได้รับความอับอาย มีชาวยิวเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้หลายคน ต่อมา ชาวเมืองต้อนชาวยิวที่อยู่ในตลาดไปที่โรงนาที่ราดน้ำมันก๊าดจนทั่วและจุดไฟเผา เมืองนี้ถูกปกครองด้วยทหารชาวเยอรมันแต่ทหารเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่โดยตรง

ด้วยเนื้อหาในหนังสือนี้ จึงทำให้เกิดการสนทนาระดับชาติเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างชาวยิวและเพื่อนบ้านชาวคริสต์ ลัทธิต่อต้านชาวยิว และความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวยิวช่วงสงครามในโปแลนด์และประเทศอื่นในยุโรปที่ถูกนาซียึดครอง นอกจากนี้ หนังสือเล่มนี้ยังทำคนหันมาสนใจเรื่องราวของชุมชนธรรมดาชุมชนหนึ่งในช่วงสงคราม การทำลายล้าง และความโหดร้าย (นาซีเยอรมนีปกครองโปแลนด์ด้วยความรุนแรงในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง)  

คำถามชวนคิด:

  1. การห้ามพูดถึงหัวข้อบางหัวข้อหรือแง่มุมบางแง่มุมของประวัติศาสตร์ชาติถือว่าเป็นการปฏิเสธโฮโลคอสต์/การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ 
  2. ลักษณะหรือเหตุผลที่ผู้บิดเบือนโฮโลคอสต์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มักใช้คืออะไร 
  3. แนวคิดชาตินิยมมีบทบาทอย่างไรต่อการปฏิเสธและการบิดเบือนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 

  ยาน โทมัสซ์ โกรสส์ (เครดิต: มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน)

ในช่วงที่มีการถกเถียงกันนี้ สังคมในโปแลนด์เต็มไปด้วยความแตกแยกและมีปฏิกิริยาต่อหนังสือเล่มนี้ทั้งในด้านบวกและด้านลบ มีการตีพิมพ์งานต่อต้านโกรสส์หลายร้อยงานในช่วงปีต่อๆ มา ผู้บิดเบือนกล่าวหาว่าโกรสส์ได้ทำให้ข้อเท็จจริงกลายเป็นเรื่องปกติและนำเสนอข้อเท็จจริงแบบเกินจริง ต่อต้านความเป็นโปแลนด์ และไม่ปฏิบัติตนเฉกเช่นที่นักวิชาการควรปฏิบัติ ผู้บิดเบือนเหล่านี้ยังใช้คำกล่าวอ้างเรื่องการแข่งขันกันเป็นเหยื่อ (competitive victim) ที่เน้นเรื่องความทุกข์ทรมานของชาวชนชาติโปแลนด์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ปฏิเสธว่าชาวชนชาติโปแลนด์มีส่วนร่วมในความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชาวยิว และมุ่งเน้นว่าการสังหารหมู่ที่เมืองเยดวับนาเป็นความผิดของชาวเยอรมันเท่านั้น (การเลือกปฏิเสธ)

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโปแลนด์ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนที่นำโดยสถาบัน Institute of National Remembrance (IPN) โดยผลการสอบสวนยืนยันว่าชาวโปแลนด์มีส่วนร่วมโดยตรงในการสังหารหมู่ชาวยิว

อันนา บิคอนท์ (Anna Bikont) นักข่าวชาวโปแลนด์ได้ทำข่าวเชิงสืบสวนและสัมภาษณ์ประชาชนในเมืองเยดวับนาหลังจากที่ได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่อง My z Jedwabnego (‘Jedwabne: Battlefield of Memory’) ในปีค.ศ. 2004

2009/10

ทาเดอุสซ์ สโลโบดเซียเน็ก (Tadeusz Słobodzianek) เขียนบทละครเวทีเรื่อง ‘Nasza klasa/Our Class’ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนและเพื่อนบ้านทั้งชาวยิวและชาวคริสต์กลุ่มหนึ่งในเมืองเยดวับนาโดยเริ่มตั้งแต่ปีค.ศ. 1925 จนถึงปัจจุบันและจัดแสดงในโรงละครในโปแลนด์ ละครเวทีเรื่องนี้เป็นละครเวทีเรื่องแรกที่พูดถึงการสังหารหมู่ที่เยดวับนาและได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเรื่อง Neighbors ของยาน ที. โกรสส์

 2012

หนังสือเรื่อง Neighbors ของยาน ที. โกรสส์ยังทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องนี้ในประเทศอื่นๆ ในยุโรปตะวันออกด้วย เช่น โรมาเนีย มอลโดวา หรือลิทัวเนีย แม้ว่าบริบททางประวัติศาสตร์จะแตกต่างกันก็ตาม ตัวอย่าง เช่น ในปีค.ศ. 2012 นิโคเลตา เอสิเนคู (Nicoleta Esinencu) นักเขียนชาวมอลโดวาผู้ได้รับทราบเรื่องโฮโลคอสต์ที่เกิดขึ้นในบ้านเกิดของเธอในวัยยี่สิบปลายๆ ในขณะที่อยู่ในประเทศเยอรมนีได้เขียนและนำเสนอบทละครที่ชื่อว่า ‘Clear History’ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอิอน อันโตเนสคู (Ion Antonescu) เผด็จการชาวโรมาเนียและพันธมิตรของฮิตเลอร์ และชะตากรรมของชาวยิวและชาวโรมาที่อยู่ภายใต้การปกครองของอันโตเนสคู 

ดิอานา ดูมิทรู (Diana Dumitru) นักประวัติศาสตร์ชาวมอลโดวาผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับบทบาทของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อโฮโลคอสต์ในโรมาเนียเรื่อง The State, Antisemitism, and Collaboration in the Holocaust: The Borderlands of Romania and the Soviet Union” (2018) กล่าวว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนของยาน ที.โกรสส์ โดยเฉพาะหนังสือเรื่อง ‘Neighbors’

อันนา บิคอนท์ 

(เครดิต: Wikimedia Commons)

เด็กนักเรียนชาวโปแลนด์ (ทั้งยิวและคริสต์) และคุณครู, เยดวับนา, โปแลนด์, 1933 (เครดิต: Wikimedia commons, ที่มา: Jewish Historical Institute)

อนุสาวรีย์ในเมืองเยดวับนา (เครดิต: Wikimedia Commons)

เละคร ‘Clear History’ (เครดิต: แฟ้มข้อมูลของ “Spalatorie”, Chisinau,

ในลิทัวเนีย เอฟราม ซูรอฟฟ์ (Efraim Zuroff) นักล่านาซีและผู้สืบเชื้อสายจากเหยื่อโฮโลคอสต์ และรึต้า วานาเกต (Rūta Vanagaitė) นักเขียนและผู้สืบเชื้อสายจากผู้ให้ความช่วยเหลือนาซี ได้ร่วมกันค้นคว้าและตีพิมพ์หนังสือชื่อ Our People. Discovering Lithuania’s Hidden Holocaust’ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับบทบาทของคนในพื้นที่ที่มีการสังหารหมู่ชาวยิวและเจ้าหน้าที่ชาวลิทัวเนียที่พยายามปิดบังการร่วมกระทำความผิดของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือที่อยู่ในพื้นที่

ในหนังสือเล่มที่สอง ‘Fear. Anti-Semitism in Poland Shortly After the War’ โกรสส์ ได้เล่าเรื่องการสังหารหมู่นองเลือดในเมืองคีเอลเซ (Kielce) ประเทศโปแลนด์หนึ่งปีหลังจากที่สงครามจบลง มีชาวยิวเพียงร้อยละสิบเท่านั้นที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์โฮโลคอสต์และพวกเขาเริ่มเดินทางกลับบ้านซึ่งส่วนใหญ่ถูกชาวโปแลนด์เข้าจับจองเป็นเจ้าของหมดแล้ว ชาวยิวถูกกล่าวหาอย่างผิดๆ ว่าได้กระทำการสังหารชาวคริสต์เพื่อนำเลือดไปทำพิธี (blood libel) ส่งผลให้ชาวยิวบางคนถูกทำร้ายและถูกสังหาร ในขณะที่ชาวยิวคนอื่นตัดสินใจอพยพออกจากโปแลนด์เป็นการถาวร  หนังสือยังคงพูดถึงปัญหาเรื่องการเหมารวม (stereotype) ลัทธิต่อต้านชาวยิว และความโหดร้ายหลังสงคราม 

คุณสามารถอ่านเรื่องการสังหารหมู่ที่คีเอลเซเพิ่มเติมได้ที่ (ภาษาอังกฤษ) : https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/article/the-kielce-pogrom-a-blood-libel-massacre-of-holocaust-survivors

2017

ในปีค.ศ. 2017 องค์การ NEVER AGAIN และพันธมิตรขององค์กรได้ร่วมกันแปลและตีพิมพ์หนังสือ‘Golden Harvest: Events at the Periphery of the Holocaust’ (2011) ของยาน ที. โกรสส์เป็นภาษารัสเซียและภาษาโรมาเนีย (บางส่วน) หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับชาวนาชาวโปแลนด์ที่ค้นหาฟันที่ทำมาจากทองและสมบัติอื่นๆ จากเถ้าถ่านของชาวยิวที่ถูกสังหารในค่ายมรณะที่เทรบลิงกา (Treblinka) โดยเป็นเรื่องราวของความเกลียดชัง ลัทธิต่อต้านชาวยิวที่ยังคงมีอยู่ และความโลภ คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ (ภาษาอังกฤษ): NEVER AGAIN support Holocaust awareness in Eastern Europe

หนังสือแปลเรื่องนี้เปิดตัวในประเทศมอลโดวา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชาวมอลโดวามีการถกเถียงเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของประเทศตน

นิโคเลตา เอสิเนคู (Nicoleta Esinencu) เป็นนักเขียนบทละคร ผู้ก่อตั้งโรงละครและผู้กำกับชาวมอลโดวา (เครดิต: Spalatorie)

ในรูป: ยาน ที. โกรสส์กำลังแบ่งปันประสบการณ์การถกเถียงในโปแลนด์ให้กับนักวิชาการ นักเรียน และประชาชนชาวมอลโดวา. Chisinau, 2017. องค์กร NEVER AGAIN Association  ได้จัดงานเหล่านี้โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบัน Friedrich Ebert Stiftung Moldova (เครดิต: NEVER AGAIN).

คุณสามารถฟังการบรรยายของยาน ที. โกรสส์ที่ Moldova State University (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่นี่ :

Lecture of Jan T. Gross at Moldova State University (with introduction of Rafał Pankowski), 14.09.17

คุณสามารถชมการนำเสนอของยาน ที. โกรสส์ ในการประชุมที่จัดโดยพิพิธภัณฑ์ Liberation War Museum (บังคลาเทศ) และองค์กร NEVER AGAIN ได้ที่: https://www.nigdywiecej.org/en/multimedia/video-materials/4553-holocaust-and-genocide-distortion-and-hate-speech co-organised-by-the-never-again-association

เหตุใดการอภิปรายเกี่ยวกับหนังสือของโกรสส์จึงเป็นเรื่องสำคัญ 

  • การอภิปรายทำให้เห็นความซับซ้อนของโฮโลคอสต์ที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินโปแลนด์ที่ทหารเยอรมันเป็นผู้กระทำเมื่อชาวโปแลนด์มีทัศนคติต่อชาวยิวที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจไปจนถึงความไม่สนใจและความเกลียดชัง 
  • การอภิปรายทำให้ความเข้าใจของชาวโปแลนด์เรื่องสงครามและความต้องการของสังคมที่จะจดจำเรื่องโฮโลคอสต์จากมุมมองของเหยื่อนั้นเปลี่ยนไป 
  • การอภิปรายทำให้เกิดการสมานฉันท์กันระหว่างชาวโปแลนด์และชาวยิวในประเทศโปแลนด์หลังยุคคอมมิวนิสต์ โดยชาวโปแลนด์หลายคนเริ่มมองในบางแง่มุมของอดีตและอัตลักษณ์ของตนอย่างวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น 
  • การอภิปรายทำให้ความสนใจและการริเริ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสังคมที่ตระหนักเรื่องประวัติศาสตร์และพหุนิยมในโปแลนด์เพิ่มมาก

ในรูป: นาตาเลีย คารายออน (Natalia Caraion) อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ชาวมอลโดวาจากหมู่บ้านโอลาเนสตี (Olanesti) กำลังมอบดอกไม้ให้กับศาสตราจารย์โกรสส์ระหว่างงานเปิดตัวหนังสือ

คำถามชวนคิด :

  1. ความสัมพันธ์ของมนุษย์เปลี่ยนไปอย่างไรในช่วงสงครามและความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปจะส่งผลต่อชนกลุ่มน้อยอย่างไร 
  2. งานค้นคว้าใหม่ๆ มีประโยชน์ต่อกระบวนการการรับมืออดีตและมีผลต่อการถกเถียงเชิงวิพากษ์อย่างไร ความท้าทายมีอะไรบ้าง 
  3. การถกเถียงเชิงวิพากษ์มีประโยชน์อย่างไรในกัมพูชา พม่า และไทย  ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรที่มาจากกลุ่มชนที่หลากหลายและมี เพื่อนบ้าน มากมาย
  4. การถกเถียงเชิงวิพากษ์จะต่อต้านการบิดเบือนโฮโลคอสต์และเหตุการณ์โหดร้ายอื่นๆ ได้หรือไม่ 

เราสามารถเปรียบเทียบเหตุการณ์โฮโลคอสต์ได้หรือไม่ เราจะหลีกเลี่ยงการเปรียบเทียบการทำให้เรื่องรุนแรงกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญ การนำเหยื่อมาใช้เป็นเครื่องมือ และการการปฏิบัติว่าโฮโลคอสต์เป็นเรื่องไม่มีสาระได้อย่างไร 

เรามักมองโฮโลคอสต์ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เป็นกระบวนทัศน์ (paradigmatic genocide) ที่ช่วยให้ครูและนักเรียนเข้าใจเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และการกระทำที่โหดร้ายอื่นๆ โฮโลคอสต์ถูกนำมาใช้เป็นจุดเริ่มต้นเพื่อใช้ในการอ้างอิงและสนทนาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือปัญหาอ่อนไหวร่วมสมัยอื่นๆ ในบริบทต่างๆ  ศาตราจารย์เยฮูดา เบาเออร์ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการด้านโฮโลคอสต์ชั้นนำให้เหตุผลว่า โฮโลคอสต์เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เหมือนเหตุการณ์อื่น แม้ว่าจะมีลักษณะบางอย่างที่เป็นลักษณะตัวอย่างของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นๆ เช่น “อำนาจศูนย์กลางที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพ ความยิ่งใหญ่ด้านกองทัพ สถานการณ์สงคราม และการใช้ทาสชาวยิวเพื่อผลทางเศรษฐกิจก่อนการสังหารให้สิ้นซาก”  โดยเบาเออร์ได้อธิบายเหตุผลว่า: 

  • เป็นครั้งแรกที่มีการสร้างโรงงานเพื่อสังหารคนซึ่งเป็นกรณีของโฮโลคอสต์ และก่อนหน้านี้ไม่เคยมีโรงฆ่าแบบนี้มาก่อน และวัตถุประสงค์ของโรงฆ่าเหล่านี้คือเพื่อเข่นฆ่าชาวยิว
  • วัตถุประสงค์ของนาซีคือการฆ่าชาวยิวทุกคนให้หมดไปจากโลก
  • เป็นครั้งแรกที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยแรงจูงใจล้วนมาจากอุดมการณ์ (ideology) โดยอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังการสังหารชาวยิวคืออุดมการณ์ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวทางการปฏิบัติ (non-pragmatic ideology) ไม่ใช่เพราะอุดมการณ์ด้านเศรษฐกิจ

ศาสตราจารย์เบาเออร์ยังกล่าวอีกว่าโฮโลคอสต์ในฐานะที่เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะต้องเปรียบเทียบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นๆ และมิติสากล (universal dimension) ของการเปรียบเทียบนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน

ถ้าไม่มีการเปรียบเทียบ ก็จะไม่เข้าใจเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นๆ การเปรียบเทียบสามารถช่วยให้เรายอมรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นๆ ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับ ตัวอย่าง เช่น การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรงฮิงญาหรือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในบังคลาเทศในปีค.ศ. 1971

นอกจากนี้ การเข้าใจว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับ “เรา” เท่านั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เหยื่อจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะคิดว่าประสบการณ์ของตนนั้นเป็นประสบการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นกับผู้อื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ เหยื่อจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่ใช่กลุ่มคนที่ไร้ชื่อเสียงเรียงนามแต่เป็นปัจเจกบุคคลที่มีเรื่องราวของตนเอง

อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบอาจจะเป็นเรื่องที่อันตรายได้เมื่อทำการเปรียบเทียบความทรมานเจ็บปวดหรือจำนวนของเหยื่อเพื่อแสดงว่าใครทรมานเจ็บปวดกว่ากัน (การแข่งขันกันเป็นเหยื่อ หรือ competitive victimhood) ตัวเลขไม่ควรเป็นสิ่งอ้างอิงหลักเมื่อทำการเปรียบเทียบ

คอนสตันตี เกเบิร์ท (Konstanty Gebert) ปัญญาชนชาวโปแลนด์-ยิว กล่าวว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แต่ละครั้งมีชื่อเรียกเพื่อให้ผู้ฟังรู้ว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนั้นต่างจากเหตุการณ์อื่นอย่างไร การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นเหตุการณ์ที่มีความแตกต่างกันไปและแต่ละเหตุการณ์ก็ไม่เหมือนกัน ตัวอย่าง เช่น โชอาห์ (Shoah) เป็นชื่อเรียกการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ในขณะที่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรม่า (ยิปซี) เรียกว่า โปราจาโมส (Porajamos)[3]


3. ดูอภิธานศัพท์

ศาสตราจารย์เยฮูดา เบาเออร์เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำด้านโฮโลคอสต์และเป็นประธานกิตติมศักิด์ของ IHRA (เครดิต: ยาด วาเชม (Yad Vashem))

คุณสามารถชมการบรรยายของคอนสตันตี เกเบิร์ตที่จัดขึ้นโดยองค์กร NEVER AGAIN (ภาษาอังกฤษ) ได้ที่นี่: The Holocaust and Other Genocides. Is Comparison Possible?

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโฮโลคอสต์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นๆ: https://www.holocaustremembrance.com/resources/educational-materials/holocaust-and-other-genocides

ชมผลการสำรวจว่าองค์กรต่างๆ เข้าใจบทเรียนเกี่ยวกับโฮโลคอสต์ว่าคืออะไรและนำบทเรียนเหล่านี้มาปรับใช้ในงานของตนที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และเหตุการณ์โหดร้ายอื่นๆ อย่างไร: IHRA: A Matter of Comparison: The Holocaust, Genocides and Crimes against Humanity

คำถามชวนคิด : 

  1. ทำไมเราจึงต้องเปรียบเทียบโฮโลคอสต์และเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อื่นๆ 
  2. ทำไมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แต่ละเหตุการถึงไม่เหมือนกัน

เราจะต่อต้านผู้ปฏิเสธโฮโลคอสต์ได้อย่างไรบ้าง

หลายประเทศในยุโรปมีกฎหมายห้ามไม่ให้ปฏิเสธว่าเหตุการณ์โฮโลคอสต์ไม่ได้เกิดขึ้น และหลายประเทศยังมีการออกกฎหมายต่อต้านความเกลียดชังด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์ที่กว้างกว่า ในขณะที่เราควรประนามการปฏิเสธโฮโลคอสต์แบบชัดเจนแต่การบิดเบือนโฮโลคอสต์และการทำให้โฮโลคอสต์กลายเป็นเรื่องไม่มีสาระนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายมากกว่า และควรเข้าใจรูปแบบการกระทำที่ดูออกได้ยากกว่าเป็นอันดับแรก นอกจากนี้ การกระทำเหล่านี้ยังสามารถแสดงออกมาได้ด้วยวิธีที่กฎหมายหรือมาตรการที่คล้ายกันไม่สามารถลงโทษได้ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สามารถเห็นได้ชัดในประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่สังคมยังพยายามทำใจยอมรับกับอดีตของชาติตนและพยายามค้นหาการแสดงออกที่เกี่ยวกับความทรงจำร่วมกันของคนในชาติอยู่ การถกเถียงเรื่องลัทธิการแก้ไขโฮโลคอสต์ (Holocaust revisionism) “ช่วย” ให้คนเหล่านี้รับมือกับความรู้สึกผิดต่อบทบาทต่างๆ ของตนที่เกี่ยวข้องกับโฮโลคอสต์ และมีความเป็นไปได้ว่ากฎหมายต่อต้านการ
ปฏิเสธโฮโลคอสต์ดั้งเดิมที่มีขึ้นเพื่อปกป้องข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์จากการนำไปใช้ในทางที่ผิดนั้นอาจถูกรัฐบาลแก้ไขใหม่เพื่อปกป้องเรื่องราวเกี่ยวกับโฮโลคอสต์ในชาติตนเอง

เราสามารถต่อสู้กับการบิดเบือนโฮโลคอสต์ผ่านการถกเถียงเชิงวิพากษ์ เช่น การถกเถียงเรื่องหนังสือของ ยาน  ที. โกรสส์ การพัฒนาการคิดเชิงวิพากษ์ และการให้ความสนับสนุนการค้นคว้าเกี่ยวกับโฮโลคอสต์และผู้ค้นคว้าในประเทศที่เกิดโฮโลคอสต์และการสืบสวนปัญหาที่ถูกละเลยก่อนหน้านี้ การศึกษาและการรณรงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจคล้ายกับการรณรงค์ขององค์กร NEVER AGAIN Association ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน

คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับความพยายามระดับโลกเพื่อต่อสู้กับการปฏิเสธและการบิดเบือนโฮโลคอสต์ได้ที่เว็บไซต์ของ IHRA (ภาษาอังกฤษ): https://www.holocaustremembrance.com/task-force-against-holocaust-denial-and-distortion

ศาสตราจารย์เดบอราห์ ลิปสตัดท์ ศาสตราจารย์โดโรท (Dorot Professor) ด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ยิวสมัยใหม่และโฮโลคอสต์ ณ Tam Institute for Jewish Studies และภาควิชาศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยเอมอรี่ (Emory University)  และเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงด้านโฮโลคอสต์และลัทธิต่อต้านยิวสมัยใหม่

การพิจารณาคดีนายเออร์วิง

ในปีค.ศ. 1998 เดวิด เออร์วิง (David Irving) ผู้ปฏิเสธโฮโลคอสต์ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดได้ฟ้องเดบอราห์ ลิปสตัดท์ นักวิชาการชาวอเมริกันและสำนักพิมพ์เพนกวินโดยอ้างว่าทั้งคู่ได้หมิ่นประมาทตนเองในหนังสือของลิปสตัดท์ที่ชื่อว่า “Denying the Holocaust” เออร์วิงยื่นฟ้องความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยใช้กฎหมายเรื่องโฆษณาหมิ่นประมาทของสหราชอาณาจักร โดยในหนังสือ ลิปสตัดท์ได้กล่าวหาเออร์วิงว่าตีความหลักฐานแบบผิดๆ และเรียกเขาโดยหนึ่งในชื่อที่ใช้เรียกคือ “หนึ่งในโฆษกของการปฏิเสธโฮโลคอสต์ที่อันตรายที่สุด”  นอกจากนี้ลิปสตัดท์ยังชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของเออร์วิงกับองค์กรและบุคคลสำคัญของกลุ่ม นีโอนาซี วัตถุประสงค์ของการฟ้องร้องของเออร์วิงคือเพื่อให้หยุดการวิพากษ์ วิจารณ์และเพื่อเป็นการเผยแพร่ความคิดของเขาผ่านทางศาลให้แพร่หลาย ผู้ ปฏิเสธโฮโลคอสต์จะเรียกร้องหาเสรีภาพในการพูดเมื่อต้องการปฏิเสธที่จะนำเสนอความเห็นและถกเถียงความคิดเห็นของตนอย่างเท่าเทียมกับผู้อื่น งานของลิปสตัดท์และนักประวัติศาสตร์ท่านอื่นส่งผลให้คำฟ้องของเออร์วิงถูกยกฟ้อง ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2005 เดวิด เออร์วิงถูกจับกุมเมื่อเขาเดินทางไปออสเตรียเพื่อทำการบรรยายให้กับกลุ่มนักเรียนขวาจัด เขาถูกกล่าวหาว่าเขาปฏิเสธว่าห้องรมแก๊สที่เอาชวิทซ์นั้นไม่มีจริงในขณะที่กล่าวสุนทรพจน์และให้สัมภาษณ์ในออสเตรียเมื่อปีค.ศ. 1989 เขาถูกจำคุกหนึ่งปีก่อนได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด  

คำถามชวนคิด :

  1. คุณเคยพบกับการปฏิเสธหรือบิดเบือนเหตุการณ์ที่รุนแรงโหดร้ายในประเทศคุณหรือไม่ 
  2. อะไรคือความท้าทายหลักในการเผชิญหน้าการปฏิเสธและเราจะรับมือเรื่องราวอย่างนี้ได้อย่างไร 
  3. คุณจะรับมือการปฏิเสธและการบิดเบือนอย่างไร 

เดวิด เออร์วิงขณะการพิจารณาคดีที่กรุงเวียนนา ค.ศ. 2006. (เครดิต: Wikimedia Commons)

เราขอแนะนำให้คุณชมภาพยนตร์แนวชีวประวัติเรื่อง ‘Denial’ (2016) กำกับโดยมิค แจ็คสัน (Mick Jackson) และเขียนบทโดยเดวิด ฮาร์ (David Hare) โดยภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสือเรื่อง History on Trial: My Day in Court with a Holocaust Denier” ที่ตีพิมพ์ในปี 2005 ของเดบอราห์ ลิปสตัดท์ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับคดีระหว่างเออร์วิงและบริษัทเพนกวิน บุคส์ จำกัด ซึ่งเป็นคดีที่เดวิด เออร์วิงซึ่งเป็นผู้ปฏิเสธโฮโลคอสต์ฟ้องร้องลิปสตัดท์ นักวิชาการเรื่องโฮโลคอสต์ในข้อหาหมิ่นประมาท: https://bleeckerstreetmedia.com/denial

Thank you for taking the time to give us feedback on this online exhibition. Please share your thoughts, reflections and comments on this. We appreciate your cooperation.

Supported by