ด้านหน้าของอาคารสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย – พม่า (เครดิต: พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย – พม่า)
1. ภูมิหลังและบริบท
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศและเหตุการณ์หลักที่เกี่ยวกับความรุนแรงหมู่
- ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมตะวันตก การปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกยกเลิกในปีพ.ศ 2475 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ‘ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ มีการรัฐประหาร 12 ครั้งและอยู่ภายใต้การปกครองของกองทัพกว่า 34 ปี’ นี่จึงทำให้กองทัพกลายเป็นส่วนสำคัญของสถาบันการเมืองของไทย ความรุนแรงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการขัดขืนผู้มีอำนาจผ่านการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน การประท้วงและความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องโต้แย้งกันในวาทกรรมสาธารณะในประเทศไทย ตัวอย่างของเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ มีเช่น
- ในปี 2516 นักศึกษาได้เรียกร้องให้รัฐบาลทหารลงจากอำนาจและให้มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐบาลสั่งการให้ทหารยิงเหล่าผู้ชุมนุม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 77 รายและบาดเจ็บอีก 80 ราย ในปี 2517 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรัฐบาลทหารถูกโค่นอำนาจลง
- เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – ในวันที่ 6 ตุลาคม 2019 มีการประท้วงใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เพื่อคัดค้านการเดินทางกลับมาของเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร หลังจากลี้ภัยในต่างประเทศ กลุ่มม็อบฝ่ายขวาทำการจู่โจมและสังหารหมู่นักศึกษา ส่งผลให้มีนักศึกษาเสียชีวิตอย่างน้อย 46 คน มีผู้บาดเจ็บและถูกจับกุมจำนวนมาก ทางการไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดได้และไม่มีใครได้รับโทษจากการก่อความรุนแรงในครั้งนี้
- พฤษภาทมิฬ 2535 — อีกหนึ่งตัวอย่างการใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามผู้ประท้วงที่เรียกร้องประชาธิปไตย
- ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประชากรส่วนใหญ่ในไทยเป็นชาวพุทธ ซึ่งชาวพุทธนอกประเทศก็ใช้สิ่งนี้เป็นจุดอ้างอิงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นชาวพุทธแต่ก็มีความหลายหลาก และยังมีกลุ่มชนพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์อีกมากมาย เช่น ชาวม้ง กะเหรี่ยง มุสลิมมาเลย์ และอื่นๆ ชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดที่อยู่ติดกับชายแดนประเทศมาเลเซีย ชาวมุสลิมเหล่านี้อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้มาเป็นเวลานาน ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเป็นระยะเวลานานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลต่ออารมณ์เป็นอย่างมาก ความขัดแย้งนี้มีองค์ประกอบมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ ความแตกต่างทางศาสนา และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างชาวมุสลิมมาเลย์ที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์ของตนไว้ซึ่งตรงข้ามกับอัตลักษณ์ของชาวไทยพุทธและกฎของไทยพุทธ ภูมิภาคนี้จึงต้องพบกับความตึงเครียด ความรุนแรง และการก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับรัฐ เหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยเริ่มต้นมาจากชาวมุสลิมกว่า 1,500 คนออกมาประท้วงต่อต้านการจับกุมชาวมุสลิมด้วยกัน การประท้วงเกิดความรุนแรงขึ้นเมื่อชาวบ้านปาก้อนหินในตำรวจที่ตอบโต้ด้วยการยิงปืนใส่ฝูงชน มีชาวมุสลิมและชาวพุทธเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ 85 จากการขาดอากาศหายใจและอาการบาดเจ็บจากการโดนโถมทับร่างระหว่างที่ถูกขนตัวไปยังค่ายทหาร และทางการไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆ
- The State of Conflict and Violence in Asia, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2565, https://asiafoundation.org/wp-content/uploads/2017/10/Thailand-StateofConflictandViolence.pdf
ประติมานุสรณ์ 6 ตุลา19 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ (เครดิต: Wikimedia Commons)
คำถามชวนคิด :
- การปกครองโดยทหารในอดีตส่งผลกระทบต่อการพัฒนาของประเทศในด้านความสงบระหว่างชาติพันธุ์อย่างไรบ้าง
- การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการสร้างความปรองดองในประเทศหรือไม่
ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นิพนธ์: หัวข้อหลัก องค์ประกอบหลักของการสร้างเครื่องเตือนความทรงจำ
ชาวไทยอาจรู้สึกว่าโครงการเพื่อรำลึกเหตุการณ์ที่เป็นที่ถกเถียงกัน เช่น โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ของเอกชนนั้นเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โครงการนี้เริ่มขึ้นในปี 2562 มีการจัดแสดงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยใช้ภาพถ่ายและคลิปเสียงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวว่าเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 สำหรับผู้จัดทำโครงการนี้ นี่คือโครงการเพื่อเล่าเรื่องราวของเหยื่อความรุนแรงของรัฐแต่ละราย เรื่องราวของนักศึกษาที่อยู่ในธรรมศาสตร์วันนั้น และยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อครุ่นคิดและถกเถียงหัวข้อสำคัญต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันของไทย มีการจัดการสัมมนาหมู่คณะ การฉายภาพยนตร์ การแสดงต่างๆ และคอนเสิร์ตจากวง Rap Against Dictatorship และวงสามัญชนหลายครั้ง
- อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา และการจัดแสดง และดูรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่
(ภาษาอังกฤษ) : Thammasat University massacre remembered - ชมการนำเสนอเรื่อง โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา ของภัทรภร ภู่ทอง (อ้อ) ในการประชุมสัมมนาที่จัดโดยองค์การ NEVER AGAIN Association เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 (ภาษาไทย) ภัทรภรเป็นนักวิจัยที่เน้นเรื่องพิพิธภัณฑ์และแฟ้มข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองในอดีตและความขัดแย้งรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นอยู่ และเป็นหนึ่งในผู้นำของโครงการนี้
มีการริเริ่มเพื่อสร้าง พิพิธภัณฑ์สันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเป็นความพยายามสร้างพื้นที่สาธารณะสำหรับสังคมและการเมืองเพื่อนำเสนอความขัดแย้ง และโดยเฉพาะเรื่องเหตุการณ์ตากใบ และสำหรับกระบวนการประชาธิปไตย การรวมผู้ที่มีความแตกต่าง และเสียงต่างๆ ในชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับผล
กระทบจากความขัดแย้งรุนแรงในภาคใต้ของไทย
การเข้าชมแบบมีไกด์นำในพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา (เครดิต : แฟ้มข้อมูลของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา)
ผู้จัดใช้เทคโนโลยีโลกเสมือนเพื่อแสดงความจริง (เครดิต : แฟ้มข้อมูลของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา)
เสื้อผ้าของผู้เสียชีวิต (เครดิต : แฟ้มข้อมูลของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา)
‘ประตูแดง’ หลักฐานของเหตุการณ์ ชายสองคนถูกแขวนคอที่ประตูนี้เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 หลังจากแจกโปสเตอร์ประท้วงการเดินทางเข้าประเทศของเผด็จการ จอมพลถนอม กิตติขจร (เครดิต : แฟ้มข้อมูลของโครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา)
คำถามชวนคิด :
- การรำลึกถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอดีตมีผลต่อวัฒนธรรมประชาธิปไตยร่วมสมัยอย่างไร
- สิ่งที่เหยื่อสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านการปฏิเสธและการบิดเบือนเหตุการณ์รุนแรงนั้นมีความสำคัญอย่างไร
- บทบาทของประเทศในสงครามโลกครั้งที่สอง มีการสร้างเครื่องเตือนความทรงจำของสงครามโลกครั้งที่สองหรือไม่ และอยู่ในรูปแบบใด
ประเทศไทย (หรือที่รู้จักในชื่อ สยาม จนถึงปี 2482) เป็นประเทศที่เป็นกลางจนกระทั่งถูกกองทัพญี่ปุ่นรุกรานในวันที่ 8 ธันวาคม 2485 หลังจากที่ต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นเป็นเวลาสั้นๆ ประเทศไทยก็ตกลงเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและกลายเป็นรัฐหุ่นเชิด และประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 25 มกราคม 2486
มีการพูดถึงสงครามโลกครั้งที่สองในหนังสือประวัติศาสตร์และมีอนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้หลายแห่ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว สงครามโลกครั้งที่สองกลับถูกด้อยความสำคัญในวาทกรรมสาธารณะ ไม่มีการพูดถึงความทรงจำด้านประวัติศาสตร์และเรื่องการเข้าร่วมสงครามของไทยในหลายแง่ ไม่เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ และไม่มีการถกเถียงเรื่องนี้ ตัวอย่างของแง่มุมต่างๆ เช่น การที่ไทยเข้าร่วมสงครามโดยอยู่ข้างเดียวกับญี่ปุ่น และการที่กรุงเทพฯ ถูกฝ่ายสัมพันธมิตรถล่มด้วยระเบิด เป็นต้น วาทกรรมอย่างเป็นทางการให้เหตุผลการเข้าร่วมสงครามของไทยกับญี่ปุ่นโดยใช้เหตุผลเชิงปฏิบัติเท่านั้น
กาญจนบุรี จังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของไทยและอยู่ติดกับชายแดนพม่านั้นมีสิ่งที่ตกทอดมาจากสงครามโลกครั้งที่สองและอาจใช้อ้างอิงในบริบทเรื่องโฮโลคอสต์และความทรงจำด้านประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ ตัวอย่างของสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น ‘สะพานข้ามแม่น้ำแคว’ อนุสาวรีย์ไทยานุสรณ์ และสุสานทหารสัมพันธมิตร นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์อีกจำนวนมากเพื่อรำลึกถึงและแสดงแง่มุมต่างๆ ของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีสองแห่งที่ควรได้รับความสนใจเป็นพิเศษ คือ พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด และ พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย – พม่า
พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดถูกสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเชลยสงครามชาวออสเตรเลียและเชลยสงครามจากฝ่ายสัมพันธมิตรที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นบังคับให้สร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าระยะทาง 415 กิโลเมตร ญี่ปุ่นต้องการทางรถไฟสายนี้เพราะเป็นช่องทางการขนส่งเสบียงหลักของตนในช่วงสงคราม รัฐบาลออสเตรเลียเป็นผู้สนับสนุนการสร้างพิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาดนี้
อนุสาวรีย์เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้กองทัพญี่ปุ่นของยุวชนทหารไทยเมื่อประเทศถูกรุกรานระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองในเดือนธันวาคม 2485 อนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองชุมพร (เครดิต : Wikimedia Commons)
พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย – พม่าเป็นสถานที่สำหรับทำการค้นคว้าเรื่องทางรถไฟไทย-พม่า เก็บรวบรวมและขยายข้อมูลส่วนบุคคลของอดีตเชลยสงครามในเอเชียอาคเนย์กว่า 106,000 คน (โดยส่วนมากจะเป็นเชลยที่สร้างทางรถไฟไทย-พม่า) พิพิธภัณฑ์และศูนย์สำหรับการค้นคว้าและข้อมูลแห่งนี้เป็นของเอกชนและเปิดในปี 2546 คำบรรยายและข้อมูลต่างๆ ทั้งหมดในนิทรรศการเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ทางพิพิธภัณฑ์ขอเชิญให้ชาวไทยเข้าชมพิพิธภัณฑ์นี้ นอกจากนี้ นักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาลยังสามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ตรงสถานที่ที่สร้างทางรถไฟ โดยอยู่ห่างจากทางรถไฟ 200 เมตรและห่างจากสุสาน 100 เมตร การจัดแสดงจะเน้นไปที่เหยื่อและมุมมองของเหยื่อ และมีการแสดงให้เห็นว่าสภาพการทำงานนั้นโหดร้าย (โรคภัยต่างๆ การขาดแคลนอาหาร สุขอนามัยที่ย่ำแย่ ที่พักที่ไม่ดี การทำงานหนักเกินไป และความเหนื่อยล้า) และเชลยถูกปฏิบัติด้วยความรุนแรงมากแค่ไหน การจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย-พม่ายังแสดงให้เห็นว่าประวัติศาสตร์ได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดี ผู้ที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์มักมาจากครอบครัวที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์นี้ กิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร เชลยสงครามฝ่ายสัมพันธมิตรชาว
สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลียกว่า 13,000 และเชลยสงครามชาวอเมริกาอีกจำนวนหนึ่งเสียชีวิตระหว่างกลางปี 2485 และเดือนสิงหาคม 2488 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของพิพิธภัณฑ์ แรงงานทาสชาวเอเชียจากพม่า ชวา และมาลายานั้นเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด คือ 240,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 10,000 คน ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบไม่มีผู้รู้และแทบไม่มีผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เลยแม้กระทั่งที่การจัดแสดงนี้และที่อื่นๆ
อ่านประวัติโดยย่อของทางรถไฟไทย-พม่าและพิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย – พม่าได้ที่ (ภาษาอังกฤษ): http://www.tbrconline.com/history.htm
ด้านหน้าของอาคารสถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย – พม่า (เครดิต: พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย – พม่า)
รศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา ได้เขียนถึงพิพิธภัณฑ์แห่งที่สามที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี คือ หอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 โดยอรัญ จันทร์ศิริ นักธุรกิจค้าอัญมณี โดยรศ.ดร.วริตตา ได้วิพากษ์วิจารณ์และเขียนเกี่ยวกับความพยายามรำลึกและบูชาภาพของฮิตเลอร์² พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำแควโดยสามารถมองเห็นแม่น้ำแควได้ รศ.ดร.วริตตาได้เขียนไว้ว่า สะพานแห่งนี้เป็นผลจากความพยายามของรัฐบาลในปี 2503 เพื่อประชาสัมพันธ์และเตรียมรองรับประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองในเวอร์ชั่นที่ปรับเปลี่ยนแล้วสำหรับนักท่องเที่ยวที่รู้จักภาพยนตร์เรื่อง สะพานเดือดเลือดเชลยศึก หรือ Bridge on the River Kwai ที่ออกฉายในปี 2500 นอกจากความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะลบความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับญี่ปุ่นระหว่างสงครามและการใช้แรงงานทาสชาวเอเชียออกจากประวัติศาสตร์แล้ว ในปี 2503 รัฐบาลไทยยังได้เปลี่ยนชื่อแม่น้ำในจังหวัดกาญจนบุรีใหม่เพื่อให้ตรงกับจินตนาการที่เกิดจากภาพยนตร์เรื่องนี้³
การสร้างประวัติศาสตร์ในไทยไม่ได้จบลงที่ความพยายามของรัฐบาลไทยในการตั้งชื่อสะพานและแม่น้ำใหม่ อาจสามารถมองว่าหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เป็นส่วนขยายของพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดกาญจนบุรี คือ พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก หรือ “JEATH War Museum” ชื่อของพิพิธภัณฑ์นี้มาจากตัวย่อที่ทำให้เข้าใจผิด (และตั้งใจให้มีเสียงคล้องจองกับคำว่า “death” หรือ ความตาย) โดยตัวย่อมาจากคำว่า ญี่ปุ่น (Japan) อังกฤษ (England) อเมริกา (America) ออสเตรเลีย (Australia) ไทย (Thailand) และฮอลแลนด์ (Holland) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี 2520 โดยหลวงพ่อวัดชัยชุมพล ในส่วนของ JEATH นี้ ผู้เยี่ยมชมสามารถเดินผ่านกระท่อมจำลองที่ผู้สร้างคิดว่าจำลองมาจากที่อยู่อาศัยของเชลยสงครามที่ก่อสร้างทางรถไฟ ท่ามกลางสิ่งของจัดแสดงที่ได้มาจากที่ต่างๆ (เช่น แสตมป์ เหรียญกษาปณ์ เครื่องดนตรี สัตว์ที่ถูกสตาฟไว้) ที่มีอยู่ทั่วบริเวณจัดแสดงเพื่อรำลึกถึงสงครามไทย-พม่านั้น มีรูปปั้นปูนแบบที่สามารถพบได้ทั่วไปในวัดของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ยืนอยู่ข้างกับโจเซฟ สตาลิน ไม่มีการพูดถึงกูลัก (Gulag – ค่ายกักขังและใช้แรงงานนักโทษ – ผู้แปล) ในข้อความชีวประวัติทั้งภาษาไทยและอังกฤษของ
โจเซฟ สตาลิน ส่วนข้อความชีวประวัติทั้งภาษาไทยและอังกฤษของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ก็ไม่มีการพูดถึง
โฮโลคอสต์ อย่างไรก็ตาม มีการแปะบทความภาษาไทยจากหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ (Auschwitz concentration camp) ไว้ใกล้ๆ กับรูปปั้นปูนของฮิตเลอร์ ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นการกระทำที่เพิ่งนึกขึ้นได้ทีหลัง ตามชื่อย่อของ JEATH พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ชวนเชื่อและสร้างเรื่องราวของทางรถไฟไทย-พม่าขึ้นมาใหม่โดยอ้างว่าผู้ที่เสียชีวิตนั้นมีเพียงแค่เชลยสงครามจากฝ่ายสัมพันธมิตรเท่านั้น การยกย่องกองทัพญี่ปุ่นของไทยยังเห็นได้จากการนำอักษร “J” สำหรับคำว่า ญี่ปุ่น (Japan) เข้ามารวมไว้อีกด้วย การกระทำเช่นนี้เป็นการทำลายล้างความจริงที่ว่า แรงงานชาวเอเชียที่ไม่ว่าจะถูกบังคับหรือมาด้วยความสมัครใจเพราะเชื่อว่าจะได้รับค่าแรงที่สูงขึ้นนั้นต่างก็ทุกข์ทรมานและเสียชีวิตระหว่างการสร้างทางรถไฟสายนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการอ้างอิงที่น่าสนใจเกี่ยวกับขบวนการเสรีไทยอีกด้วย ขบวนการเสรีไทยเป็นขบวนการใต้ดินเพื่อต่อต้านกองกำลังญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ขบวนการเสรีไทยได้รับการรำลึกถึงในฐานะที่ให้ความร่วมมือกับสถานทูตสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย และถือว่าเป็นการร่วมมือกันระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา โดยในเว็บไซต์ของสถานทูตได้ระบุไว้ว่า :
“นักศึกษาไทยที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกาในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเช่น คอร์แนล (Cornell) คาลเทค (Caltech) และเอ็มไอที (MIT) ได้อาสาเข้ารับการฝึกในกองทัพและกลับไปยังประเทศไทยซึ่งเป็นบ้านเกิดเพื่อต่อสู้เพื่อเสรีภาพ บุคคลเหล่านี้เป็นสมาชิกคนแรกๆ ของกลุ่มที่ต่อมามีชื่อว่า ขบวนการเสรีไทย อาสาสมัครของเสรีไทยมีส่วนอย่างหาค่ามิได้ในการเตรียมภาคพื้นให้พร้อมสำหรับการกลับมาของอำนาจอธิปไตยของไทย”
รูปถ่ายของรูปปั้นปูนในรูปแบบที่สามารถพบได้ทั่วไปในวัด ของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ยืนอยู่ข้างกับโจเซฟ สตาลินและบทความในหนังสือพิมพ์และข้อความชีวประวัติที่พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก จังหวัดกาญจนบุรี (เครดิต : รศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา)
²การนำเสนอระหว่างการประชุมสัมมนา วันที่ 23-26 พฤศจิกายน 2564
³ Braithwaite, R.W. and Leiper, Neil. ‘Contests on the River Kwai: How a Wartime Tragedy Became a Recreational, Commercial and Nationalistic Plaything’. Current Issues in Tourism. Vol. 13. No. 4 (July 2010) Taylor & Francis, p.323.
ลักษณะของความหลากหลายทางสังคม ชนกลุ่มน้อยหลักในประเทศ และกรณีการลงโทษหลังปี 2488
ประเทศไทยมีชุมชน ชนกลุ่มน้อยและชนพื้นเมืองที่หลากหลาย คือ ชาวไทยอีสาน/ไทยลาว 13 ล้านคน ผู้สืบเชื้อสายชาวจีน 9.5 ล้านคน (ประมาณ 14 เปอร์เซ็นต์) มุสลิมมาเลย์ 1.5 ล้านคน ขแมร์ 1.4 ล้านคน ชนพื้นเมืองที่ราบสูง 923,257 คน และกลุ่มชนเผ่าเร่ร่อนกลางท้องทะเล 10,000 คน
อ่านเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยในประเทศไทยเพิ่มเติมได้ที่ (ภาษาอังกฤษ) : https://minorityrights.org/country/thailand/
Patani Artspace ถูกสร้างขึ้นโดยอาจารย์เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ อาจารย์เจะอับดุลเลาะต้องการสร้างโอกาสให้กับศิลปินอายุน้อยที่มาจากชนกลุ่มน้อยหรือที่นำเสนอกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในจังหวัดภาคใต้ของไทย ที่ Patani Artspace นี้ ศิลปะเป็นสื่อสำหรับการพูดคุย การประนีประนอม และการรำลึกถึงความรุนแรงในอดีต
สามารถติดตาม Patani Artspace ได้ทางเฟซบุ๊ก: https://www.facebook.com/PataniArtspaceArtMuseum/ และชมการนำเสนอของอาจารย์เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะประชุมสัมมนาที่จัดโดยองค์การ NEVER AGAIN Association เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 (ภาษาไทย)
ประเทศไทยไม่เคยมีชุมชนชาวยิวอย่างจริงจังมาก่อนนอกจากผู้อพยพชาวยิวและนักท่องเที่ยวชาวยิวจากอิสราเอล สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอื่นๆ แต่ในปัจจุบัน สมาคมชาวยิวในประเทศไทย (Jewish Association of Thailand) เป็นตัวแทนของชุมชนชาวยิวในประเทศไทยและอาจมีชาวยิวหลายร้อยคนอาศัยอยู่ในไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในทางประวัติศาสตร์แล้ว มีพ่อค้าชาวยิวอยู่ในสยามในสมัยอาณาจักรอยุธยา มีชาวยิวจากยุโรปตะวันออกและรัสเซียจำนวนหนึ่งเข้ามาในไทยในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ชาวยิวเยอรมันบางคนเดินทางมาประเทศไทยเพื่อหนีการลงโทษในนาซีเยอรมนี
หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ชาวยิวอเมริกันจำนวนหนึ่งและทั้งจากอิรัก อิหร่าน และอาฟกานิสถานได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทย ชาวยิวเหล่านี้มักมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจต่างๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศและเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความใจกว้าง
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ชาวยิวเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นศัตรูและถูกญี่ปุ่นสงสัยว่าให้ความช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตร (เช่นเดียวกับในกรณีของชาวยิวพม่า) ทหารชาวยิวบางคนถูกคุมขังในค่ายเชลยสงครามของญี่ปุ่นที่กาญจนบุรี นี่เป็นหัวข้อที่ยังต้องค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับชุมชนชาวยิวในไทย (ภาษาอังกฤษ) :
คำถามชวนคิด :
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมของไทยสามารถช่วยในการทำความเข้าใจและการรำลึกโฮโลคอสต์และอาชญากรรมรุนแรงอื่นๆ ได้อย่างไร
2. ประเภทของการปฏิเสธและการบิดเบือนโฮโลคอสต์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีอยู่
ผู้ที่รู้และสนใจประวัติศาสตร์และประเพณีของชาวยิวในเมืองไทยนั้นมีไม่มาก และความรู้เกี่ยวกับโฮโล-คอสต์ในไทยก็มีไม่มากเช่นกันโดยส่วนมากแล้วคนจะรู้เรื่องโฮโลคอสต์จากป็อปคัลเจอร์ (วัฒนธรรมที่ผู้คนนิยมในสมัยนั้นๆ) ต่างๆ เช่น จากหนังเรื่อง ชะตากรรมที่โลกไม่ลืม (Schindler’s List) หรือ ยิ้มไว้โลกนี้ไม่มีสิ้นหวัง (Life is Beautiful) และมีการแปลหนังสือเรื่อง บันทึกลับของ ‘แอนน์ แฟร้งค์‘ (The Diary of Anne Frank) เป็นภาษาไทยด้วยเช่นกัน ในส่วนของหนังสือเรียนมาตรฐานวิชาประวัติศาสตร์นั้นมีเพียงข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับโฮโลคอสต์เท่านั้น
สถานทูตของประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกกลายเป็นหนึ่งในแหล่งข้อมูลหลักเกี่ยวกับโฮโลคอสต์และสงครามโลกครั้งที่สองโดยมีการจัดนิทรรศการและการบรรยายต่างๆ เพื่อนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ อย่างไรก็ดี การนำเสนอข้อเท็จจริงในบางครั้งเป็นการตีความเพื่อให้เข้ากับเรื่องราวของชาติตนเอง (หรือเรื่องราวชาตินิยมของชาติตนเอง) โดยเน้นไปที่ด้านบวกต่างๆ เช่น ผู้ให้ความช่วยเหลือชาวยิว (Righteous among Nations) แต่เลี่ยงที่จะพูดถึงความซับซ้อนทั้งหมดของโฮโลคอสต์ ซึ่งรวมไปถึงบทบาทต่างๆ ที่ประชากรในชาติตนได้กระทำ
การบิดเบือนโฮโลคอสต์ในวาทกรรมสาธารณะในไทยมีหลายประเภท คือ การด้อยค่าโฮโลคอสต์ การชื่นชมและการทำให้นาซีและฮิตเลอร์เป็นเรื่องปกติ (หรือ Nazi chic – การแต่งกายเลียนแบบนาซีและการใช้สัญลักษณ์ท่าทางของนาซีโดยคิดว่าเป็นเรื่องที่ดูดีโดยไม่เข้าใจถึงความหมายที่แท้จริง – ผู้แปล) และทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับชาวยิวอีกมากมาย
เทรนด์ของ Nazi chic ในป็อปคัลเจอร์ของไทยกลายเป็นเรื่องสำคัญในกิจกรรมนอกหลักสูตรในโรงเรียนและในมหาวิทยาลัย กล่าวคือ มีการใช้สัญลักษณ์นาซีในขบวนพาเหรดของโรงเรียน ในกิจกรรมในมหาวิทยาลัย และในพิธีรับปริญญา
ในประเทศไทยนั้น Nazi chic อาจเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่าเครื่องแบบและสัญลักษณ์ของนาซี (เครื่องหมาย
สวัสดิกะสีดำ และ Reichsadler หรือ “อินทรีย์จักรวรรดิ” (“Imperial Eagle”)) ถือเป็นส่วนหนึ่งของตัว
มาสคอตในงานที่จัดขึ้นเป็นพิเศษ โดยถือเป็นเพียงเครื่องประดับสำหรับนักแสดงในวงการบันเทิงหรืองานพาเหรดคนดังเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการจัดแสดงสำหรับงานวันคริสต์มาสในห้างสรรพสินค้าใหญ่แห่งหนึ่งในใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อปี 2562 ในรูปด้านล่าง ซึ่งเป็นปีเดียวกับหนึ่งในสมาชิกวง BNK48 ซึ่งเป็นวงเกิร์ลไอดอลที่มีชื่อเสียงของไทยได้ใส่เสื้อสัญลักษณ์นาซีขึ้นแสดงในรายการโทรทัศน์สองวันก่อนวันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล (International Holocaust Remembrance Day) แม้ว่าจะมีแฟนเพลงของ BNK48 จำนวนหนึ่งพยายามแก้ตัวให้นักร้องคนดังกล่าวว่าเธอไม่ทราบความหมายของสัญลักษณ์นี้เพราะตนเองก็ไม่ทราบเช่นกัน แต่เหตุผลเรื่องความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นั้นน่าจะเป็นเพียงข้ออ้างเพียงเท่านั้น
6. มติ 60/7 ของสมัชชาสหประชาชาติเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 ประกาศให้วันที่ 7 มกราคมของทุกปี ซึ่งเป็นที่ค่ายกักกันเอาช์วิทซ์ได้รับการปลดปล่อยโดยกองทัพแดงในปี 2488 เป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากลเพื่อเป็นการระลึกถึงผู้เสียชีวิตจากโฮโลคอสต์
พิชญาภา นาถา สมาชิกวง BNK48 ใส่เสื้อธงนาซีบนเวที
รศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา นักวิจัยของโครงการของเราจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอธิบายถึงสาเหตุหลักของการชื่นชมและการทำให้นาซีและฮิตเลอร์เป็นเรื่องปกติในไทยและในภูมิภาคนี้ว่า “การทำให้ผู้นำที่แข็งแกร่งในสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น สตาลินและฮิตเลอร์ กลายเป็นคนดีในไทยนั้นเป็นสิ่งสะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศที่ต้องอยู่ภายใต้การเป็นอาณานิคมในประเทศตนเองเมื่อถูกปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบอุปถัมภ์ของอำมาตยาธิปไตย และลัทธิอำนาจนิยมของกองทัพ การที่เราผ่านการรัฐประหารที่ “ประสบความสำเร็จ” มาแล้ว 13 ครั้งตั้งแต่ปี 2475 (และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะไม่มีการทำรัฐประหารอีก) เราจึงเห็นวาทกรรมที่พยายามทำให้การสังหารบุคคลต่างๆ ของรัฐทั้งในอดีตและปัจจุบันและโฮโลคอสต์กลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องเพื่อความมั่นคงของประเทศ เพื่อผู้นำทั้งในอดีตและปัจจุบัน และเพื่อบุคคลที่ได้รับการเคารพว่าเป็น “กึ่งเทพ” ด้วยเช่นกัน” นอกจากนี้ การกระทำของกองทัพญี่ปุ่นในช่วงสงครามที่หลายคนมองว่า
เป็นประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนั้นดูเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวกว่า (เพราะ
ฮิตเลอร์อยู่ในยุโรปและโฮโลคอสต์เกิดขึ้นในยุโรป) ด้วยความคิดเช่นนี้ คนเหล่านี้จึงไม่เชื่อมโยงฮิตเลอร์กับการสังหารชาวยิวจำนวนหกล้านคนในยุโรปโดยตรง
“ห้องที่เห็นนี้มีชื่อว่า “ห้องคอมมิวนิสต์” เป็นห้องที่แขกเข้าพักชื่นชอบ (จากบทความ Outrage over love hotel’s Hitler Room”) จะเห็นว่าในห้องมีรูปและสัญลักษณ์ซึ่งจะเป็นเรื่องผิดปกติมากๆ ในยุโรป นั่นคือมีรูปอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สัญลักษณ์ดาวแดง และค้อนและเคียว (ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์ – ผู้แปล) ห้องนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและเป็นฉากหลังของบทวิเคราะห์เรื่องวัฒนธรรมของเทรนด์ Nazi chic และคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องเท่ในประเทศไทยของดิฉัน ดิฉันขอยืนยันว่า
เทรนด์เหล่านี้ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องลัทธิการบูชาบุคคลและการไม่สนใจที่จะรับรู้ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองในไทย และสามารถมองได้ว่าเป็นผลจากและเป็นสิ่งสะท้อนประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศที่ต้องอยู่ภายใต้การเป็นอาณานิคมในประเทศตนเองเมื่อถูกปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบอุปถัมภ์ของอำมาตยาธิปไตย และลัทธิอำนาจนิยมของกองทัพ” “ห้องคอมมิวนิสต์” ที่มีรูปฮิตเลอร์ประดับและเป็นสถานที่ที่ใช้ประกอบกิจชั่วคราวที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความต้องการที่สกปรกนั้นสามารถมองว่าเป็นเพียงเรื่องทางโลกและเป็นลัทธิบูชาฮิตเลอร์และ
สตาลินในเวอร์ชันที่ปรับใช้เพื่อการพาณิชย์เพียงเท่านั้น
รับชมการนำเสนอของรศ.ดร. วริตตา ศรีรัตนา เรื่อง ‘The Land of Smiles, Nazi Chic and Communist Cool’ ได้ในวารสารการประชุมสัมมนาของเรา (ภาษาอังกฤษ)
อคติที่มีทั่วไปในทั่วโลกก็ปรากฏในไทยและในภูมิภาคนี้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีสมคบคิดที่เกี่ยวข้องกับชาวยิวในฐานะส่วนหนึ่งของทฤษฎีสมคบคิดทั่วโลก เช่น การโทษชาวยิวอเมริกันว่าเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายทางการเมืองในไทย ทฤษฎีสมคบคิดมักจะต้องมีกลุ่มแพะรับบาปเสมอ เช่น ชนกลุ่มน้อยชาวยิว ผู้คนมักหันไปเชื่อทฤษฎีสมคบคิดเมื่ออยู่สถานการณ์วิกฤติ และจะโทษชนกลุ่มน้อยในชุมชนต่างๆ ที่มีประเพณีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนาน มักมีการเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อเพื่อต่อต้านชนกลุ่มน้อยและข่าวปลอม (หรือเฟคนิวส์) ในภูมิภาคนี้โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ บางครั้งผู้นำศาสนาอาจหลงเชื่อและช่วยกระจายข้อมูลเหล่านี้ด้วย เราสามารถต่อต้านข้อมูลที่เป็นเท็จและโฆษณาชวนเชื่อเหล่านี้ได้โดยการให้ความรู้ ซึ่งจะกลายเป็นเครื่องมือที่แต่ละคนสามารถใช้เพื่อแยกแยะข้อมูลที่จริงออกจากข้อมูลเท็จ ช่วยให้เกิดการคิดวิเคราะห์ รู้จักข้อเท็จจริงที่อ้างอิงจากข้อเท็จจริงในคำให้การและการค้นคว้าต่างๆ และยังช่วยให้ใช้มุมมองต่างๆ เพื่อค้นหาแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออีกด้วย
7. Are you serious? Thai royalists blame Jews for political unrest’, https://www.ucanews.com/news/are-you-serious-thai-royalists-blame-jews-for-political-unrest/90213#, เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564.
รูปจาก Lovevillahotel.com ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
(เครดิต : https://www.bangkokpost.com/thailand/general/1553074/outrage-over-love-hotels-hitler-room;
รศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา)
ชายไทยแต่งกายด้วยเครื่องแบบนาซีในการจัดแสดงวันคริสต์มาสในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2562
(เครดิต : Twitter (Stickboy Bangkok)
รูปร้านไก่ทอดฮิตเลอร์ ที่ตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ไก่ทอดเอชเลอร์ ในปี 2556 ร้านตั้งอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีและเชียงราย และปัจจุบันได้ปิดตัวลงแล้ว
(เครดิต : Shuo & Zhaokun; รศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา)
กลุ่มนักศึกษาแต่งกายด้วยเครื่องแบบเรดการ์ด (กองกำลังพิทักษ์แดงหรือขบวนการยุวชนแดงระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน – ผู้แปล) และทำท่าการทำความเคารพแบบนาซี
(เครดิต : Washirawit Santipiboon (Facebook)
3. โครงการริเริ่มของภาครัฐและเอกชนเพื่อป้องกัน/ต่อต้านการปฏิเสธ
- องค์กร NEVER AGAIN Association ได้ร่วมมือกับพระสงฆ์จากไทย บังคลาเทศ กัมพูชา เมียนมา ลาว และเวียดนามที่จำพรรษาในประเทศไทย โดยท่านลาบลู บารัว (Venerable Lablu Barua) จากวัดพรหมรังษีได้จัดให้มีการบรรยายและพูดคุยเกี่ยวกับโฮโลคอสต์และการสนทนาระหว่างศาสนาสำหรับพระสงฆ์และนักเรียนที่วิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จังหวัดอยุธยา และได้มีการเชิญเจเรมี โจนส์ (Jeremy Jones) สมาชิกจากองค์กร NEVER AGAIN ที่อาศัยอยู่ที่กรุงซิดนีย์และเป็นผู้เชี่ยวชาญระหว่างศาสนาและเป็นผู้นำชุมชนชาวยิวและท่านไมเคิล ชูดริค (Michael Schudrich) หัวหน้าแรบไบของโปแลนด์มาเป็นผู้บรรยายด้วย
- รศ.ดร.วริตตา ศรีรัตนา ผู้เขียนของเราจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเน้นย้ำว่า การสนับสนุนการศึกษาด้านยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกในประเทศไทยนั้นเป็นวิธีที่จะช่วยให้ประชาชนชาวไทยตั้งคำถามและรื้อแนวคิดแนวโน้มในการสรรเสริญการปกครองแบบเผด็จการ โดยสามารถทำได้ผ่านโครงการอบรมครูอาจารย์และนักเรียนนักศึกษาชาวไทย และผ่านทางกิจกรรมด้านวัฒนธรรมนอกหลักสูตรที่มีการใช้หนังสือและการสนทนาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก หรือภาพยนตร์เกี่ยวกับความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่สองโดยเฉพาะโฮโลคอสต์ (รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการประหารบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและบุคคลที่มาจากชุมชน โรม่า (ชาวยิปซี – ผู้แปล) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่คนทั่วไปในประเทศไทยไม่ทราบ) ตัวอย่างของผลกระทบของการศึกษาด้านยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกในไทยที่มีต่อการรื้อความคิดเรื่อง Nazi chic และคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องเท่ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้จะเห็นได้จากการฉายภาพยนตร์เรื่อง Nabarvené ptáče หรือ The Painted Bird (2562) ต่อสาธารณชนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีการพูดคุยกับวาคลาฟ มาร์โฮล (Václav Marhoul) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเช็กหลังจากที่ภาพยนตร์จบด้วย The Painted Bird เป็นเรื่องราวของเด็กชายชาวยิวที่ต้องหาวิธีเอาชีวิตรอดในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกที่พังพินาศจากสงคราม ภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยข้อถกเถียงเรื่องความรุนแรงที่เกิดจากการปกครองของนาซีและคอมมิวนิสต์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากนวนิยายชื่อเดียวกันของเจอร์ซี โคชินสกี (Jerzy Kosiński) ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ภาษา Medžuslovjansky หรือภาษาที่ผู้พูดภาษาสลาวิกภาษาต่างๆ ใช้เพื่อสื่อสารกับผู้ที่พูดภาษาสลาวิกที่ต่างจากภาษาของตนเพื่อหลีกเลี่ยงการระบุสถานที่เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้องกับความโศกเศร้าที่มีร่วมกันในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกและเกี่ยวข้องกับความโหดร้ายสากลของสงครามที่อยู่เหนือเส้นแบ่งเขตแดน
- แม้จะมีปัญหามากมาย แต่สำนักงานใหญ่ขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายแห่งในภูมิภาคนี้ก็ตั้งอยู่ในประเทศไทย เช่น องค์กร Fortify Rights โปรแกรมด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชนของมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ตั้งอยู่ในไทยเช่นกัน สถานทูตอิสราเอลและสถานทูตประเทศอื่นๆ มักจะจัดงานรำลึกเหตุการณ์โฮโลคอสต์โดยมีการเชิญตัวแทนจากรัฐบาลเข้าร่วมด้วยอยู่เป็นประจำ ดูเหมือนว่าประเทศไทยมีศักยภาพมากมายที่จะพัฒนาและสนับสนุนการศึกษาเรื่องโฮโลคอสต์ในอนาคตได้
ท่านลาบลู บารัว ถ่ายรูปคู่กับป้ายแคมเปญ WeRemember (เพื่อรำลึกโฮโลคอสต์) ที่กุฏิในกรุงเทพฯ
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2562 (เครดิต : ซานจอย บารัว ชอว์ดูรี (Sanjoy Barua Chowdhury))
ท่านลาบลู บารัว เข้าเยี่ยมชมบริเวณในที่อยู่อาศัยของชาวยิวในกรุงวอร์ซอและอนุสรณ์สถาน Warsaw Ghetto Fighters พฤศจิกายน 2562 (เครดิต : นาตาเลีย ซิเนียวา)
ท่านลาบลู บารัว (ที่สองจากซ้าย) ระหว่างการเดินทางไปโปแลนด์และสมาชิกขององค์กร NEVER AGAIN
ในกรุงวอร์ซอ (พฤศจิกายน 2562, เครดิต : นาตาเลีย ซิเนียวา)
การอภิปรายออนไลน์ของท่านลาบลู บารัว (ที่สามจากซ้าย) พระสงฆ์รูปอื่นๆ และนาตาเลีย ซิเนียวา (Natalia Sineaeva)
จากองค์กร NEVER AGAIN เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การศึกษาระหว่างศาสนาและเรื่องสันติภาพ (เครดิต : แฟ้มข้อมูลของท่าน ลาบลู บารัว)
การพบปะของผู้นับถือศาสนาต่างๆ ระหว่างท่านลาบลู บารัว นักวิชาการชาวพุทธ ดร. ซานจอย บารัว ชอว์ดูรี (Sanjoy Barua Chowdhury) และเจเรมี โจนส์ (Jeremy Jones) (กลาง), กรุงเทพฯ , มกราคม 2563 (เครดิต : แฟ้มข้อมูลของ ท่านลาบลู บารัว)
คำถามชวนคิด :
- เราสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อจัดการเทรนด์ ‘Nazi chic’ ในป็อปคัลเจอร์ในประเทศไทยและในประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- บทบาทของผู้นำทางศาสนา เช่น พระสงฆ์ ในการระบุและรับมือการปฏิเสธและการบิดเบือน โฮโลคอสต์นั้นมีอะไรบ้าง
Thank you for taking the time to give us feedback on this online exhibition. Please share your thoughts, reflections and comments on this. We appreciate your cooperation.