อภิธานศัพท์ของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับโฮโลคอสต์
ลัทธิต่อต้านชาวยิว (Antisemitism)—ความเกลียดชังและอคติที่มีต่อชาวยิวในฐานะกลุ่มชาติพันธุ์หรือกลุ่มผู้นับถือศาสนา ลัทธิต่อต้านชาวยิวมีหลายรูปแบบและมีการพัฒนาเมื่อเวลาผ่านไป รากเหง้าของลัทธิต่อต้านชาวยิวมาจากลัทธิต่อด้านศาสนายูดาห์ ศาสนายิวหรือศาสนายูดาห์เป็นความเชื่อของชาวยิวและเป็นศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียวที่เก่าแก่ที่สุด ตามประวัติศาสตร์แล้ว ชาวยิวมักจะอาศัยอยู่ในดินแดนที่ปกครองโดยกลุ่มศาสนาอื่นเป็นส่วนใหญ่ เช่น ชาวคริสต์ ชาวยิวมักได้รับการปฏิบัติว่าเป็น “คนอื่น” ในดินแดนเหล่านี้ พวกเขาไม่ยอมนับถือศาสนาคริสต์และกลายเป็นแพะรับบาปเมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้นในสังคมที่ตนอาศัยอยู่ ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์มีข่าวลือ เรื่องโกหก และข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับชาวยิวมากขึ้นเรื่อยๆ และเรื่องราวเหล่านี้หลายเรื่องก็ยังเป็นที่พูดถึงอยู่จนทุกวันนี้ ความเกลียดชังนี้มักนำไปสู่การแบ่งแยกและความรุนแรง ลัทธิต่อต้านชาวยิวเหยียดสีผิวสมัยใหม่นั้นเกิดจากความเกลียดชังชาวยิวเพราะมีความแตกต่างทาง
“กายภาพ” กล่าวคือเพราะเป็นเชื้อชาติที่ “ด้อย” กว่า ลัทธิต่อต้านชาวยิวกับทฤษฎีสมคบคิดนั้นมีความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด อีกคำที่มีการใช้คือคำว่า eliminationist antisemitism ซึ่งเป็นคำที่อ้างถึงลัทธิต่อต้านชาวยิวของนาซีและเป้าหมายที่คนเหล่านี้ต้องการคือกำจัดชาวยิวทั้งหมดให้สิ้นซาก ลัทธิการต่อต้านไซออน-
นิสต์ (Anti-Zionism) หมายถึงความเกลียดชังประเทศอิสราเอลซึ่งเป็นประเทศของชาวยิว
คุณสามารถดูคำนิยามของลัทธิต่อต้านชาวยิวของ IHRA ได้ที่นี่ (ภาษาอังกฤษ)
ทฤษฎีสมคบคิดต่อต้านชาวยิว (Antisemitic conspiracy theories)—เรื่องเล่าต่อต้านชาวยิวและคำโกหกว่าชาวยิวใช้อำนาจและอิทธิพลเพื่อชักใยและควบคุมรัฐบาลทั่วโลก ทฤษฎีสมคบคิดนี้เกิดจากความมุ่งร้ายชาวยิวในสมัยโบราณและลัทธิต่อต้านชาวยิวสมัยใหม่ องค์ประกอบสำคัญของทฤษฎีสมคบคิดคือ การสังเวยเลือด (blood libel) ซึ่งคือการกล่าวหาอย่างผิดๆ ว่าชาวยิวใช้เลือดของเด็กๆ ที่ไม่ใช่ชาวยิว (มักจะเป็นชาวคริสต์) เพื่อทำพิธีต่างๆ ข่าวลือเรื่องการสังเวยเลือดนี้ขยายออกไปโดยกว้างโดยนาซีในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์โฮโลคอสต์ เราสามารถพบตัวอย่างของตำนานเหล่านี้ได้ในโลกปัจจุบันนี้ด้วย
ค่ายมรณะเอาชวิตซ์-เบียร์เคเนา (Auschwitz–Birkenau extermination camp)—ค่ายมรณะและค่ายกักกันที่ใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ปัจจุบันได้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์) มีชาย หญิง และเด็กกว่า 1.1 ล้านคนเสียชีวิตที่นี่ ค่ายมรณะเอาชวิตซ์-เบียร์เคเนากลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของโฮโลคอสต์
ฝ่ายอักษะ (Axis powers)—การรวมตัวกันที่นำโดยเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่นเพื่อต่อต้านฝ่ายสัมพันธมิตรระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่อยู่ฝ่ายอักษะก็เช่น ฮังการี โรมาเนีย สโลวาเกีย บัลแกเรีย โครเอเชีย และฟินแลนด์
ผู้เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ (Bystander)—ผู้ที่ไม่กระทำการใดๆ ต่อและไม่สนใจการลงโทษชาวยิวระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองโดยมีเหตุผลหลายประการ กล่าวกันว่าผู้เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ถือเป็นคนส่วนใหญ่ของสังคม บุคคลและกลุ่มคนต่างๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้หมวดหมู่เดียวเท่านั้น เพราะในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองนั้นมีทางเลือกหลายอย่าง คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่นี่ (ภาษาอังกฤษ): https://encyclopedia.ushmm.org/content/en/article/bystanders
ผู้สมรู้ร่วมคิด (Collaborator)—ประเทศยุโรปที่อยู่ฝ่ายอักษะร่วมมือกับนาซีเยอรมนีโดยการใช้กฎหมายต่อต้านชาวยิว รัฐวิชีฝรั่งเศส (Vichy France) เป็นชื่อของรัฐฝรั่งเศสที่เป็นอิสระอย่างเป็นทางการ โดยมีนายพลฟีลิป เปแต็ง (Philippe Pétain) เป็นผู้นำในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐวิชีฝรั่งเศสใช้นโยบายให้ความร่วมมือกับนาซีเยอรมนีที่ยึดครองทางเหนือและทางตะวันตกของฝรั่งเศส ในประเทศที่ถูกฝ่ายอักษะยึดครองจะมีบุคคลและองค์การต่างๆ ที่ร่วมมือกับนาซีโดยมีแรงจูงใจหลักมากจากลัทธิชาตินิยม ลัทธิต่อต้านชาวยิว และลัทธิต่อต้านคอมมิวนิสต์
ค่ายมรณะ (Death camps)—นาซีได้สร้างค่ายไว้ห้าแห่งในโปแลนด์ที่อยู่ภายใต้การยึดครองในปลายปี
ค.ศ.1941 จนถึงต้นปีค.ศ.1942 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฆ่ามนุษย์จำนวนมาก ค่ายเบลเซค (Belzec) ค่าเชลมโน (Chełmno) ค่ายโซบิโบร์ (Sobibor) เทรบลิงก้า (Treblinka) ไมดาเนก (Maidanek) และเอาชวิตซ์-เบียร์เคเนา (Auschwitz–Birkenau) ถูกสร้างขึ้นเพื่อสังหารคนนับแสนโดยการใช้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ค่ายเหล่านี้ตั้งอยู่ในบริเวณป่าทึบ ห่างไกลจากโลกภายนอก และสามารถเข้าถึงได้โดยทางรถไฟ
ลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)—อุดมการณ์ทางการเมืองและการเคลื่อนไหวของมวลชนที่เกิดขึ้นในหลายรัฐในยุโรประหว่างปีค.ศ.1919-1945 ลัทธิฟาสซิสต์ใช้หลักการของลัทธิชาตินิยมที่เน้นการใช้กำลังทหาร (militaristic nationalism) การหลอมรวมความหลากหลายเป็นหนึ่งเดียวของวัฒนธรรม (cultural homogeneity) และการเป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตย
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide)—ราฟาเอล เลมกิน (Rafael Lemkin) เป็นทนายความที่แนะนำแนวคิดของ ‘การฆ่าล้างเผ่านพันธุ์’ ในปีค.ศ. 1943 คำนี้มาจากนโยบายของนาซีที่มีต่อชาวยิวระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเป็นหลัก แนวคิดนี้ถูกใช้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันและลงโทษอาชญากรรมการล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ ค.ศ. 1948 (UN Convention on the Prevention and Punishment of the Crime of Genocide (1948)) คำคำนี้มีความหมายกว้างกว่าแนวคิดของ ‘โฮโลคอสต์’ และมีความหมายมากกว่าการฆาตกรรม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คือการทำลายล้างกลุ่มชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา ประชาชน วัฒนธรรม หรือกลุ่มที่มีโครงสร้างทางสังคมไม่ว่าจะทั้งหมดหรือเพียงส่วนหนึ่งโดยจงใจและอย่างเป็นระบบ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นอาชญกรรมต่อมนุษยชาติที่ร้ายแรงที่สุด
โฮโลคอสต์ (The Holocaust)—การสังหารและการกำจัดชาวยิวยุโรปอย่างเป็นระบบที่รัฐเป็นผู้สนับสนุนระหว่างปีค.ศ.1933-1945 โดยการปกครองระบอบนาซีและพันธมิตรในประเทศในยุโรปที่ถูกยึดครอง บางคนอาจนิยามคำว่า ‘โฮโลคอสต์’ ให้กว้างกว่านี้โดยรวมเหยื่อกลุ่มอื่นๆ เข้าไปด้วย คือ ชาวยิปซี (ชาวโรม่า) ผู้ที่รักเพศเดียวกัน คนพิการ และกลุ่มอื่นๆ เอลี วีเซล (Elie Wiesel) ผู้รอดชีวิตจากโฮโลคอสต์ชาวโรมาเนียได้ใช้คำนี้ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 โดยใช้เป็นคำอุปมาที่เป็นสัญลักษณ์ของการเผาผู้คนในเตาเผาศพในค่ายมรณะของนาซี โชอาห์ (Shoah) คือคำว่าโฮโลคอสต์ในภาษาฮิบรู และมีความหมายจำกัดเพียงแค่การกำจัดชาวยิวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
การปฏิเสธโฮโลคอสต์ (Holocaust Denial)—ชุดคำพูดอันเป็นเท็จที่ว่าเหตุการณ์โฮโลคอสต์ไม่เคยเกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาทั้งหมด คุณสามารถดูคำนิยามเชิงปฏิบัติการของคำว่า การปฏิเสธและการ
บิดเบือนโฮโลคอสต์ ของ IHRA ได้ที่นี่
การบิดเบือนโฮโลคอสต์ (Holocaust Distortion)—การบิดเบือนและการใช้ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโฮโลคอสต์เพื่อประโยชน์ของตน การบิดเบือนโฮโลคอสต์มีหลายประเภท ซึ่งรวมไปถึงการปฏิบัติราวกับว่าโฮโลคอสต์ไม่ใช่เรื่องสำคัญและการด้อยค่าโฮโลคอสต์ และการลดความสำคัญของโฮโลคอสต์
International Holocaust Remembrance Alliance (IHRA)—หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Task Force for International Cooperation on Holocaust Education, Remembrance, and Research (the ITF) จนถึงเดือนมกราคม ค.ศ.2013 องค์กรนี้เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ.1998 โดยรวมรัฐบาลและ
ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ พัฒนาและสนับสนุนการศึกษา การค้นคว้า และการรำลึกเหตุการณ์โฮโลคอสต์ทั่วโลก และเพื่อส่งเสริมฉันทามติของแถลงการณ์ของการประชุมนานาชาติ ณ กรุงสต็อกโฮล์มว่าด้วยเหตุการณ์โฮโลคอสต์ (Declaration of the Stockholm International Forum on the Holocaust)
ลัทธินาซี/นาซี (Nazism/Nazi)—ลัทธิสังคมนิยมแห่งชาติ (National Socialism (ภาษาเยอรมัน: Nationalsozialismus)) ซึ่งเป็นอุดมการณ์และการปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) และพรรคนาซีในนาซีเยอรมนี (1933-1945) ลัทธินาซีเป็นรูปแบบหนึ่งของลัทธิฟาสซิสต์ โดยเป็นลัทธิที่
ต่อต้านระบบประชาธิปไตยเสรีและระบอบรัฐสภา ลัทธินาซีนี้จะมีการรวมลัทธิต่อต้านชาวยิวเหยียดสีผิว ลัทธิต่อต้านคอมมิวนิสต์ และลัทธิเหยียดผิวโดยวิทยาศาสตร์หนุนหลัง (scientific racism) เข้าไปด้วย
ขบวนการนีโอนาซี (Neo-Nazi movements)—ขบวนการเคลื่อนไหวหลังสงครามทางการทหาร สังคม และการเมืองที่ชื่นชอบฮิตเลอร์และต้องการนำลัทธินาซีกลับมา ลัทธินีโอนาซีสนับสนุนความเกลียดชังและลัทธิที่เชื่อในความสูงส่งของคนขาว (white supremacy) ขบวนการนีโอนาซีสนับสนุนให้มีการทำร้ายชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และเชื้อชาติ ซึ่งรวมไปถึงชาวยิว ชาวโรม่า (ยิปซี) และชาวมุสลิม เราสามารถพบขบวนการนีโอนาซีได้ในทุกภูมิภาคในโลก
การพิจารณาคดีนูเรมเบิร์ก (The Nuremberg Trial)—จัดขึ้นระหว่างปีค.ศ.1945-1946 และได้ลงโทษ
ผู้ทำความผิดชาวนาซีที่เป็นที่รู้จักกันดีจำนวน 24 คนด้วยข้อหาอาชญากรรมต่อสันติภาพ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ การพิจารณาคดีนี้เป็นการพิจารณาคดีนานาชาติครั้งแรกที่ประเทศสัมพันธมิตรและตัวแทนของประเทศที่ถูกนาซียึดครองเป็นผู้ว่าความเพื่อใช้เป็นกระบวนการหลังสงครามเพื่อนำผู้นำประเทศต่างๆ มารับโทษด้วยวิธีประหารหรือจำคุก
โปราจามอส (Porajamos)—คำในภาษาโรมานีสำหรับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นาซีกระทำต่อชาวโรม่า (ยิปซี) และชาวซินติ (Sinti) คำนี้เป็นคำที่สร้างขึ้นมาใหม่โดยสามารถแปลได้ว่า ‘การกลืนกิน’ หรือ ‘การทำลายล้าง’ นาซีเห็นว่าชาวโรม่าและชาวซินติเป็นผู้ที่มีเชื้อชาติด้อยกว่าและเป็นพวกไม่เข้าสังคมกับใคร
คุณสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ที่ (ภาษาอังกฤษ) : https://www.romarchive.eu/en/voices-of-the-victims/genocide-holocaust-porajmos-samudaripen.
การปฏิบัติการไรน์ฮาร์ต (Operation Reinhard)—แผนการของนาซีเพื่อจำกัดชาวยิวทั้งหมดในประเทศโปแลนด์
สวัสดิกะ (Swastika)—สัญลักษณ์นี้ครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์โบราณที่ใช้ในศาสนาพุทธและฮินดู นาซีได้นำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของตน ในยุโรป สัญลักษณ์นี้จะเกี่ยวข้องการลัทธินาซีและเหตุการณ์โฮโลคอสต์
ผู้ให้ความช่วยเหลือชาวยิว (The Righteous Among the Nations)—บุคคลที่ไม่ใช่ชาวยิวที่ช่วยเหลือชาวยิวที่ถูกนาซีลงโทษระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ที่ให้ความช่วยเหลือชาวยิวเหล่านี้อาจได้รับสถานะยกย่องให้เป็น Righteous of Nations โดยศูนย์ Yad Vashem ในประเทศอิสราเอล
ผู้ไม่ยอมเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้น (Upstanders)—ผู้ต่อต้านการกระทำของผู้ทำความผิดและ/หรือช่วยเหลือเหยื่อระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คำคำนี้สามารถนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นๆ ได้ ซึ่งรวมไปถึงในโลกร่วมสมัย
แคมเปญ WeRemember (WeRemember Campaign)—องค์กรสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 27 มกราคมเป็นวันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล (International Holocaust Remembrance Day) โดยวันนี้เป็นวันที่เอาชวิตซ์-เบียร์เคเนา ซึ่งเป็นทั้งค่ายกักกันและค่ามรณะที่ใหญ่ที่สุดได้รับการปลดปล่อย The World Jewish Congress ได้ออกแคมเปญ WeRemember เป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการรำลึกวันนี้ ผู้คนหลายล้านคนจะรำลึกถึงเหยื่อโดยการถือป้ายที่เขียนว่า ‘#WeRemember’ และโพสต์รูปของตนในโซเชียลมีเดีย